แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉินซึ่งนายจ้างมีสิทธิสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาโดยไม่ต้องรับความยินยอมจากลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคสอง หมายถึงงานที่ลูกจ้างทำอยู่ในเวลาทำงานปกติมีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำต่อเนื่องกันไปจนกว่างานจะเสร็จ หากหยุดก่อนงานที่ทำนั้นเสร็จ งานที่ทำนั้นจะเสียหาย ส่วนงานฉุกเฉินนั้นหมายถึงงานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า และงานนั้นต้องทำให้เสร็จสิ้นทันที มิฉะนั้นงานที่เกิดขึ้นนั้นจะเสียหาย
งานขึ้นรูปปลาสวรรค์ที่ลูกจ้างทำให้แก่นายจ้าง เป็นการนำเนื้อปลามาทำเป็นรูปปลาชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งเป็นงานที่ทำเสร็จเป็นชิ้น ๆ เมื่อทำงานตามที่รับมอบหมายในเวลาทำงานปกติเสร็จสิ้นแล้ว แม้ไม่ทำงานล่วงเวลาต่อไป ก็ไม่ทำให้งานที่ทำไว้เดิมต้องเสียหาย จึงมิใช่งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน และการที่นายจ้างได้รับคำสั่งซื้อปลาสวรรค์จากลูกค้าเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว ก็มิใช่งานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า จึงไม่ใช่งานฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคสอง
การที่นายจ้างได้รับคำสั่งซื้อปลาสวรรค์จากลูกค้าเพิ่มมากขึ้นต้องผลิตและส่งให้แก่ลูกค้าทันเวลาในวันรุ่งขึ้น เมื่อลูกจ้างไม่ทำงานล่วงเวลา นายจ้างต้องให้คนอื่นทำงานแทนมากกว่า 3 เท่าตัว และผลงานไม่ได้มาตรฐาน ถูกลูกค้าตำหนิ จะถูกลดจำนวนสั่งซื้อลงหรือเลิกการสั่งซื้อนั้น ล้วนแต่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่นายจ้างเนื่องจากระบบการบริหารงานของนายจ้างเอง เมื่องานขึ้นรูปปลาสวรรค์มิใช่งานที่นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน การที่ลูกจ้างไม่ยอมทำงานดังกล่าวล่วงเวลาตามที่นายจ้างสั่งให้ทำ ย่อมไม่มีความผิดที่นายจ้างจะออกหนังสือตักเตือนได้
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวน ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยทำหน้าที่ขึ้นรูปปลาสวรรค์ในแผนกปลาสวรรค์ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๒ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำผิด และมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสองมีความประสงค์จะเข้าทำงานกับจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม สภาพการจ้างเดิม หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานได้ ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองคนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจำนวน ๓๐ วัน คิดเป็นเงินคนละ ๔,๘๖๐ บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ ๒,๙๑๖ บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเนื่องจากโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและเป็นการละทิ้งหน้าที่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย กล่าวคือเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๒ จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลา แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมทำงานล่วงเวลา จำเลยจึงได้ตักเตือนโจทก์ทั้งสองเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาอีก แต่โจทก์ทั้งสองไม่ทำงานตามคำสั่ง การกระทำของโจทก์ทั้งสองถือว่าเป็นการกระทำความผิดซ้ำคำเตือน จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ทั้งสองประจำอยู่แผนกปลาสวรรค์ เวลาทำงานปกติคือ ๘ นาฬิกา ถึง ๑๗ นาฬิกา เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๒ จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาตั้งแต่เวลา ๑๗ นาฬิกา จนกว่างานจะเสร็จ โจทก์ทั้งสองไม่มาทำงานล่วงเวลา จำเลยมีหนังสือตักเตือนโจทก์ทั้งสอง ต่อมาวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒ จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาอีก แต่โจทก์ทั้งสองไม่มาทำงานล่วงเวลา จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๒ แล้ววินิจฉัยว่า งานที่โจทก์ทั้งสองทำให้จำเลยที่แผนกปลาสวรรค์ไม่ใช่งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๔ วรรคสอง หากจำเลยจะให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลา ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสอง จะบังคับให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาไม่ได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสองไม่ถือเป็นการกระทำผิด จึงไม่เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้กระทำความผิดต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์คนละ ๓,๐๐๐ บาท ค่าชดเชยคนละ ๔,๘๖๐ บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ ๒,๙๑๖ บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีเพียงประการเดียวว่า งานขึ้นรูปปลาสวรรค์ซึ่งโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ต้องทำและจำเลยได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้ามากกว่าปกตินับเท่าตัว ต้องผลิตและส่งมอบให้ลูกค้าในเช้าวันรุ่งขึ้น นั้น เป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉินซึ่งจำเลยมีสิทธิสั่งให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาโดยไม่ต้องรับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๔ วรรคสอง ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามบทกฎหมายดังกล่าว งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานนั้น หมายถึงงานที่ลูกจ้างทำอยู่ในเวลาทำงานปกติมีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำต่อเนื่องกันไปจนกว่างานจะเสร็จ หากหยุดก่อนงานที่ทำนั้นเสร็จ งานที่ทำนั้นจะเสียหาย ส่วนงานฉุกเฉินนั้นหมายถึงงานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า และงานนั้นต้องทำให้เสร็จสิ้นทันที มิฉะนั้นงานที่เกิดขึ้นนั้นจะเสียหาย งานขึ้นรูปปลาสวรรค์ที่โจทก์ทั้งสองทำให้แก่จำเลยนั้น เป็นการนำเนื้อปลามาทำเป็นรูปปลาชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งเป็นงานที่ทำเสร็จเป็นชิ้น ๆ เมื่อทำงานตามที่รับมอบหมายในเวลาทำงานปกติเสร็จสิ้นแล้ว แม้ไม่ทำงานล่วงเวลาต่อไป ก็ไม่ทำให้งานที่ทำไว้เดิมต้องเสียหายแต่อย่างใด จึงมิใช่งานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน และการที่จำเลยได้รับคำสั่งซื้อปลาสวรรค์จากลูกค้าเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัวนั้น ก็มิใช่งานที่เกิดขึ้นทันทีโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า จึงไม่ใช่งานฉุกเฉินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๔ วรรคสอง ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยได้รับคำสั่งซื้อปลาสวรรค์จากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ต้องผลิตและส่งให้แก่ลูกค้าทันเวลาในวันรุ่งขึ้น เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ทำงานล่วงเวลา จำเลยต้องให้คนอื่นทำงานแทนมากกว่า ๓ เท่าตัว และผลงานไม่ได้มาตรฐาน ถูกลูกค้าตำหนิ จะถูกลดจำนวนสั่งซื้อลงหรือเลิกการสั่งซื้อนั้น ล้วนแต่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเนื่องจากระบบการบริหารงานของจำเลยเองทั้งสิ้น เมื่องานขึ้นรูปปลาสวรรค์มิใช่งานที่จำเลยจะให้โจทก์ทั้งสองทำงานล่วงเวลาโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก่อนได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๔ วรรคสอง การที่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมทำงานดังกล่าวล่วงเวลาตามที่จำเลยสั่งให้ทำย่อมไม่มีความผิดที่จำเลยจะออกหนังสือตักเตือนได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.