คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และผู้ประกอบการขนส่ง แม้จำเลยที่ 3 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อดังกล่าวไป แต่จำเลยที่ 3 ก็เป็นผู้เสียภาษีในการใช้รถยนต์ประกอบการขนส่งประเภทส่วนบุคคลตลอดมาทุกปีและยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบการขนส่ง โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างและในการประกอบการขนส่งอันเป็นธุรกิจที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 1 อยู่ในสภาพพังยับเยิน แม้จะทำการซ่อมแซมอย่างดีแล้วก็ไม่สามารถทำให้คืนดีเหมือนเดิมได้ ทำให้รถยนต์เสื่อมราคาไปจากการใช้ตามปกติ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสื่อมราคารถยนต์ให้แก่โจทก์ที่ 1 อีก จึงหาใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ไม่
ความเสียหายจากการกระทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำละเมิดได้รับอันตรายสาหัสและต้องทุพพลภาพเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่างไปตลอดชีวิต นอกจากผู้ถูกกระทำละเมิดจะได้รับชดใช้ค่าเสียความสามารถประกอบการงานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคหนึ่งแล้ว ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย ที่ต้องได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจจากการทุพพลภาพไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 446 วรรคหนึ่ง อีกด้วย และค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยส่วนนี้กับค่าเสียความสามารถประกอบการงาน เป็นค่าเสียหายคนละอย่างแตกต่างกัน และไม่ซ้ำซ้อนกัน
ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นศาลที่รับแต่งตั้งจากศาลจังหวัดสีคิ้วให้สืบพยานหลักฐานของจำเลยแทนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 102 เท่านั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด หาใช่กระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐานของจำเลยตามที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดได้รับแต่งตั้งให้กระทำแทนศาลจังหวัดสีคิ้วไม่ ดังนั้น การที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ โดยให้โจทก์ไปยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดสีคิ้วซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาคดีจึงชอบแล้ว และการที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมิได้รับคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ไว้แล้วส่งไปศาลจังหวัดสีคิ้วเพื่อพิจารณาสั่งนั้น ก็หาเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดสีคิ้วที่พิจารณาคดี การดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวกับจำเลยต่อมาทั้งหมดจึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ๑๑๑,๓๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๐๙,๖๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๑ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ๑๙๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๒
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๑๐๙,๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๖ ถึงวันฟ้องและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๑๙๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๓ ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๕,๐๐๐ บาท แทนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ ๓ ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค ๑ รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ ๒ เป็นภรรยาของจำเลยที่ ๑ และเป็นผู้เช่าซื้อและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๓๔๗๒ ร้อยเอ็ด โดยมีจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของและมีชื่อเป็นผู้ประกอบการขนส่งรถยนต์บรรทุกสิบล้อดังกล่าว เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๕ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๓๔๗๒ ร้อยเอ็ด ชนท้ายรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน ป – ๑๗๖๒ นครราชสีมา ซึ่งโจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของและผู้ขับ เป็นเหตุให้รถยนต์กระบะของโจทก์ที่ ๑ เสียหาย และโจทก์ที่ ๒ ซึ่งนั่งมาในรถยนต์กระบะดังกล่าวได้รับอันตรายสาหัสจนเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่างไปตลอดชีวิต ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๓ ข้อแรกมีว่า จำเลยที่ ๓ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หรือไม่ เห็นว่า รถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และผู้ประกอบการขนส่งตามเอกสารหมาย จ. ๔ แม้จำเลยที่ ๓ จะให้จำเลยที่ ๒ เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อดังกล่าวไป แต่จำเลยที่ ๓ ก็เป็นผู้เสียภาษีในการใช้รถยนต์ประกอบการขนส่งประเภทส่วนบุคคลตลอดมาทุกปีและยินยอมให้จำเลยที่ ๒ นำรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ ๓ พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๓ ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบการขนส่ง โดยมีจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ ๓ เมื่อจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดในทางการที่จ้างและในการประกอบการขนส่งอันเป็นธุรกิจที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ด้วย
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ ๓ ข้อสองมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมชดใช้ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ ๑ จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท และค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยของโจทก์ที่ ๒ จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท เป็นการกำหนดค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าเสียหายที่กำหนดให้แล้วหรือไม่ เห็นว่า รถยนต์บรรทุกสิบล้อชนรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ ๑ ด้วยความแรง เมื่อชนแล้วยังพลิกคว่ำทับรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ ๑ ด้วย ทำให้เกิดความเสียหายทางด้านหลังของรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ ๑ ในสภาพพังยับเยิน ซึ่งต้องซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่เป็นเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท และก่อนถูกชนรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ ๑ มีราคา ๑๓๐,๐๐๐ บาท หลังถูกชนเมื่อซ่อมเสร็จแล้วราคาเหลือเพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์กระบะของโจทก์ที่ ๑ ในสภาพพังยับเยินดังกล่าวแม้จะทำการซ่อมแซมอย่างดีแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำให้คืนดีเหมือนเดิมได้นั่นเอง ทำให้รถยนต์เสื่อมราคาไปจากการใช้ตามปกติ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ กำหนดค่าเสื่อมราคารถยนต์ให้แก่โจทก์ที่ ๑ อีก จึงหาใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายซ้ำซ้อนกันไม่ ส่วนที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ให้ค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยแก่โจทก์ที่ ๒ อีก ๕๐,๐๐๐ บาท นอกเหนือจากค่าเสียความสามารถประกอบการงานที่กำหนดให้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท แล้ว เป็นค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนและสูงเกินส่วนนั้น เห็นว่า ความเสียหายจากการกระทำละเมิดจนเป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๒ ได้รับอันตรายสาหัสและต้องทุพพลภาพเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่างไปตลอดชีวิตนั้น นอกจากโจทก์ที่ ๒ จะได้รับชดใช้ค่าเสียความสามารถประกอบการงานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๔ วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์ที่ ๒ ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่โจทก์ที่ ๒ ต้องได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจจากการทุพพลภาพไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๖ วรรคหนึ่งอีกด้วย และค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยของโจทก์ที่ ๒ ส่วนนี้กับค่าเสียความสามารถประกอบการงาน เป็นค่าเสียหายคนละอย่างแตกต่างกัน และไม่ซ้ำซ้อนกันดังจำเลยที่ ๓ ฎีกา และเมื่อคำนึงถึงความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจที่โจทก์ที่ ๒ ต้องได้รับไปตลอดชีวิตแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ ๕๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นการเหมาะสมแล้ว
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ ๓ ในข้อสุดท้ายมีว่า การที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งเป็นศาลรับประเด็น และศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยให้โจทก์ทั้งสองไปยื่นคำร้องขอถอนฟ้องที่ศาลจังหวัดสีคิ้วนั้นเป็นการสั่งโดยหลงผิด ชอบที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดจะรับคำร้องของโจทก์ทั้งสองแล้วส่งไปยังศาลจังหวัดสีคิ้วเพื่อพิจารณาสั่ง ดังนั้น คำร้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ จึงผูกพันคู่ความ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๓ อีกต่อไปนั้น เห็นว่า ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นศาลที่รับแต่งตั้งจากศาลจังหวัดสีคิ้วให้สืบพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๓ แทนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา ๑๐๒ เท่านั้น การที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด จึงหาใช่กระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๓ ตามที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดได้รับแต่งตั้งให้กระทำแทนศาลจังหวัดสีคิ้วไม่ ดังนั้น การที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวโดยให้โจทก์ทั้งสองไปยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ที่ศาลจังหวัดสีคิ้วซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาคดีจึงชอบแล้ว หาเป็นการสั่งโดยหลงผิดแต่ประการใด และการที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมิได้รับคำร้องขอถอนฟ้องดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองไว้แล้วส่งไปศาลจังหวัดสีคิ้วเพื่อพิจารณาสั่งนั้น ก็หาเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายดังจำเลยที่ ๓ ฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ที่ศาลจังหวัดสีคิ้วที่พิจารณาคดี การดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ ต่อมาทั้งหมดจึงชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๓ ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๕,๐๐๐ บาท แทนโจทก์ทั้งสอง.

Share