คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง เมื่อจำเลยจัดทำใบเบิกเงินทดรองจ่ายซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ตรงตามความเป็นจริง จึงเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสาร จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลก็มีอำนาจลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
แม้คำขอบังคับในคดีนี้กับคดีของศาลแรงงานกลางจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้เนื่องมาจากการกระทำผิดอาญา ส่วนคดีของศาลแรงงานกลางมีที่มาจากมูลกรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงาน พนักงานอัยการไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ฉ้อโกงเงินของโจทก์ร่วมไปและถูกฟ้องหลายคดี แต่คดีนี้และคดีอื่นมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (1) กล่าวคือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงทุกคดีแล้วจะเกิน 10 ปี ไม่ได้ คดีนี้จำเลยถูกลงโทษเต็มตามกำหนดโทษดังกล่าวแล้วย่อมไม่อาจนำโทษคดีนี้ไปนับต่อจากโทษคดีอื่นได้เพราะจะทำให้จำเลยได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (1) บัญญัติไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 335 นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 9460/2543 คดีหมายเลขแดงที่ 8113/2546 ศาลชั้นต้น และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 8,483,984 บาท แก่โจทก์ร่วมด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัทมิตซุย – โซโค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำนวน 353 กระทง การลักทรัพย์แต่ละครั้งมีจำนวนเงินโดยเฉลี่ยวันละมากกว่า 20,000 บาท ถือได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่สูง เมื่อรวมทั้งหมดแล้วเป็นจำนวนเงิน 8,441,544 บาท นับว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก จำเลยทั้งสิ้น 1,059 ปี แต่ความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี จึงลงโทษจำคุกจำเลยได้เพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 8,441,544 บาท แก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8113/2546 ของศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง เมื่อจำเลยจัดทำใบเบิกเงินทดรองจ่ายอ้างว่ามีค่าใช้จ่ายไม่ตรงตามความเป็นจริง จึงมิใช่เอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยพลการโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในใบเบิกเงินทดรองจ่ายว่าต้องนำเงินไปชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสาร จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทลูกค้า เริ่มตรวจสอบพบความจริงและทักท้วงโจทก์ร่วมเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2541หลังจากนั้นโจทก์ร่วมจึงรู้ว่าถูกหลอกลวงและไปแจ้งความร้องทุกข์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2541 ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน นับแต่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว ความผิดฐานฉ้อโกงจึงยังไม่ขาดอายุความ แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลก็มีอำนาจลงโทษในความ ผิดฐานฉ้อโกงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม ส่วนคดีของศาลแรงงานกลางมีที่มาจากมูลกรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงาน พนักงานอัยการไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นการฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง(1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในมูลความผิดลักษณะเดียวกันเป็นหลายคดี การที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษต่อจึงอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1) นั้น เห็นว่า ขณะที่จำเลยกระทำผิดในคดีนี้และคดีอื่นนั้น จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในทุกคดี โดยจำเลยถือโอกาสที่เป็นพนักงานกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยมีเจตนาฉ้อโกงเงินของโจทก์ร่วมไปคดีนี้และคดีอื่นจึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1) กล่าวคือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงทุกคดีแล้วจะเกิน 10 ปี ไม่ได้ คดีนี้จำเลยถูกลงโทษเต็มตามกำหนดโทษดังกล่าวแล้วจึงย่อมไม่อาจนำโทษคดีนี้ไปนับต่อจากโทษคดีอื่นได้เพราะจะทำให้จำเลยได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1) บัญญัติไว้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 353 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 1,059 เดือน แต่เนื่องจากความผิดฐานฉ้อโกงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี จึงลงโทษจำคุกได้เพียง 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(1) ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้นับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากคดีหมายเลขแดงที่ 8113/2546 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share