คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2230/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์แสดงภาษีซื้อในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ตรงต่อความจริงอันเป็นการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องและเป็นการแสดงจำนวนภาษีซื้อไว้เกินไป ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์จะต้องเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) อยู่ด้วยในตัว เมื่อมาตรา 89(7) กำหนดให้เรียกเบี้ยปรับได้ 2 เท่า แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายจะให้ปรับสูงขึ้นกว่าการยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องในกรณีอื่นดังนั้น จึงเรียกเบี้ยปรับสูงสุดเพียง 2 เท่าของจำนวนภาษีในใบกำกับภาษีปลอมตามมาตรา 89(7) เท่านั้น หาอาจเรียกเบี้ยปรับได้ทั้งตามมาตรา 89(4) และ (7) รวม 3 เท่าอันเป็นการเรียกเบี้ยปรับซ้ำซ้อนกันได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์นำใบกำกับภาษีปลอมซึ่งเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบมาใช้ในการคำนวณภาษี ทำให้การยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป จึงประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) จำนวน 1 เท่า และ (7) จำนวน 2 เท่า รวม 3 เท่า โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ โจทก์เห็นว่าการนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีปลอมมาเป็นภาษีซื้อคำนวณหักออกจากภาษีขายในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(7) เมื่อมาตรา 89(7) กำหนดให้เสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ย่อมเห็นได้ว่าประมวลรัษฎากรมุ่งหมายจะลงโทษปรับให้สูงขึ้นโดยให้รับผิดตามมาตรา 89(7) เพียงอนุมาตราเดียวมิได้มุ่งหมายให้ปรับทุกอนุมาตรารวมกัน ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่ให้เสียเบี้ยปรับ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และให้ลดเบี้ยปรับลง

จำเลยให้การว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เครดิตภาษีซื้อสูงเกินความจริง โดยนำภาษีซื้อของใบกำกับภาษีปลอมมาเครดิต กับไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีซื้อได้เจ้าพนักงานของจำเลยได้ประเมินเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89(4) โดยปรับ 1 เท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงเกินไป และมาตรา 89(7)ปรับ 2 เท่า ของจำนวนภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีปลอม การที่โจทก์นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมมาเครดิตออกจากภาษีขาย ยื่นแบบแสดงรายการภาษีซื้อสูงเกินไปและไม่เก็บใบกำกับภาษีซื้อให้จำเลยตรวจสอบ เป็นการกระทำที่สามารถแยกออกจากกันได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยเรียกเบี้ยปรับตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีดังกล่าวเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินให้เป็นตามที่โจทก์ขอ

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่โจทก์นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมมาคำนวณหักออกจากภาษีขายในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์จะต้องเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(7) นั้น แสดงว่าโจทก์แสดงภาษีซื้อในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ตรงต่อความจริง อันเป็นการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องและเป็นการแสดงจำนวนภาษีซื้อไว้เกินไป ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์จะต้องเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) อยู่ด้วยในตัว จึงไม่อาจมีการกระทำที่เข้าหลักเกณฑ์จะต้องเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(7) เพียงลำพังโดยไม่เข้าหลักเกณฑ์จะต้องเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) ได้ เมื่อมาตรา 89(7) กำหนดให้เรียกเบี้ยปรับได้ 2 เท่า แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายจะให้ปรับสูงขึ้นกว่าการยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องในกรณีอื่น ดังนั้น จึงเรียกเบี้ยปรับได้สูงสุดเพียง2 เท่า ของจำนวนภาษีในใบกำกับภาษีปลอมตามมาตรา 89(7) เท่านั้นหาอาจเรียกเบี้ยปรับได้ทั้งตามมาตรา 89(4) และ (7) รวม 3 เท่า อันเป็นการเรียกเบี้ยปรับซ้ำซ้อนกันได้ไม่ เมื่อโจทก์ชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89(7) แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) ได้อีก ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share