แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องต่อศาลใด เมื่อมีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาแล้วว่า คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยอยู่ในอำนาจศาลเยาวชน และครอบครัวกลาง คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาดังกล่าวเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 13 จำเลยจะฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอีกไม่ได้
กรณีที่ศาลจะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำขอของคู่ความต้องเป็นกรณีที่คู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่คำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยกล่าวอ้างแต่เพียงว่าคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ไม่ชอบ จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจาก เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวกลางศาลแพ่งธนบุรีส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 12 ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแพ่งธนบุรีจึงโอนคดีไปยังศาลชั้นต้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 15 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์กับจำเลยที่ 2 เนื่องจากที่ดินที่จำเลยที่ 1 ขายฝากแก่จำเลยที่ 2 เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่ทราบ ทั้งจำเลยที่ 2 ทราบว่าโจทก์เป็นภรรยาจำเลยที่ 1 และมิได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1 ในการทำนิติกรรมดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 2 เมื่อครบกำหนดไม่ไถ่คืน ที่ดินจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยชอบ และคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปทำการเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินฉบับลงวันที่ 7 สิงหาคม 2535 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 76006 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 47/1 หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 76006 ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้เพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินฉบับลงวันที่ 7 สิงหาคม 2535 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 76006 เท่านั้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ที่ดินตามฟ้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แล้ว เพราะจำเลยที่ 2 ได้รับซื้อฝากจากจำเลยที่ 1 และเสียค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมิได้ เพราะจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้เยาว์และไม่ได้เกี่ยวข้องกับครอบครัวของโจทก์ ทั้งการที่ประธานศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวกลางโจทก์จะต้องยื่นคำฟ้องใหม่ ศาลแพ่งธนบุรีจะโอนคดีมายังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมิได้ จึงขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คู่ความสู้คดีถึงศาลฎีกา คดีถึงที่สุดแล้วศาลนี้และผู้พิพากษาไม่มีหน้าที่ต้องส่งสำนวนตามคำร้อง ให้ยกคำร้อง
ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์โดยเปิดเผย เสียค่าตอบแทน ตลอดจน เสียค่าธรรมเนียมตามพินัยหลวงให้แก่กรมที่ดินแล้ว ขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่เพิกถอนการขายฝากที่ดิน ให้สัญญาขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีผลบังคับตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 และมาตรา 264
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำพิพากษาศาลฎีกาเป็นอันถึงที่สุด ไม่มีเหตุตามคำร้อง ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งในคำร้องฉบับลงวันที่11 ธันวาคม 2541
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนั้น เห็นว่า ปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลใดนั้น ได้มีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาว่า คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแล้ว คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาจึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 13 ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้มาจึงเป็นการไม่ชอบ
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิขอให้ส่งสำนวนคดีนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” และมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย” ตามบทบัญญัติดังกล่าว กรณีที่ศาลจะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำขอของคู่ความ ต้องเป็นกรณีที่คู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่คำร้องของจำเลยที่ 2 เพียงแต่กล่าวอ้างว่า คำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ไม่ชอบ คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน