คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ ส. มีวัตถุประสงค์จะตั้งสาขาในการขายประกันและให้บริการแก่ลูกค้าของโจทก์ในบริเวณท้องที่ที่ที่ดินนั้นถูกเวนคืน ส. จึงให้สิทธิแก่โจทก์ใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว แต่โจทก์ต้องรับภาระจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ ส. เป็นรายเดือนในรูปของเงินเดือนและเป็นรายปีในรูปของเงินปันผล นิติสัมพันธ์ระหว่าง ส. กับโจทก์ดังกล่าวจึงเข้าเกณฑ์การเช่าทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ฉะนั้น การที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเวนคืนจึงเป็นการครอบครองในฐานะผู้เช่า ซึ่งเป็นการครอบครองแทน ส. ผู้ให้เช่า ถือไม่ได้ว่าโจทก์ยึดถือที่ดินที่ถูกเวนคืนโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ส่งผลให้โจทก์ไม่มีฐานะเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายในที่ดินที่ถูกเวนคืนอันจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 18 (1) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 120,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนจำเลยทั้งสี่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืน อันเป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 (1) แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 หรือไม่ ที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสองแปลงคือที่ดินโฉนดเลขที่ 5247 แขวงทุ่งมหาเมฆ (สาธร) เขตยานนาวา (บางรัก) กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 611 ซึ่งอยู่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสุวพร ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์ นางสุวพรมีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งสาขาในการขายประกันและให้บริการแก่ลูกค้าของโจทก์ในบริเวณเขตท้องที่ที่ดินทั้งสองแปลงตั้งอยู่ จึงให้สิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทั้งสองแปลง แต่โจทก์มีภาระผูกพันต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นางสุวพรเป็นรายเดือนในรูปของเงินเดือนและเป็นรายปีในรูปของเงินปันผล ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับนางสุวพรจึงเข้าเกณฑ์เป็นการเช่าทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 เพราะเป็นกรณีที่นางสุวพรเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลงที่ถูกเวนคืนซึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่า ตกลงให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และโจทก์ผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเป็นรายเดือนในรูปของเงินเดือนและเป็นรายปีในรูปของเงินปันผล ดังนั้น การที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงที่ถูกเวนคืนจึงเป็นการครอบครองในฐานะผู้เช่าซึ่งเป็นการครอบครองแทนนางสุวพรผู้ให้เช่า กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ยึดถือที่ดินทั้งสองแปลงโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์จึงไม่ได้ซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินทั้งสองแปลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 และย่อมส่งผลทำให้โจทก์ไม่มีฐานะเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินทั้งสองแปลงที่ต้องเวนคืน อันเป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 (1) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share