คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5749/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การห้ามยึดหรืออายัดทรัพย์สินซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นทรัพย์รายเดียวกันของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมีเงินเดือน 27,000 บาท ถูกอายัดเงินเดือนครั้งแรกในคดีที่ 1 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 2 ในคดีที่ 2 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 3 คือคดีนี้โจทก์อายัดไว้ 5,000 บาท ดังนั้น การอายัดของโจทก์จึงเป็นการอายัดเงินเดือนของจำเลยในจำนวนที่แยกต่างหากจากที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นได้อายัดไว้ จึงไม่ใช่การอายัดซ้ำ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทโดยธรรมชำระเงินจำนวน 90,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 61,200 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาและคำบังคับ โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้คืนเงินที่ได้รับจากเจ้าพนักงานบังคับคดีจำนวน 3,462 บาท แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อคืนแก่จำเลยที่ 1 ต่อไป
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีเงินเดือน 27,000 บาท ถูกอายัดเงินเดือนครั้งแรกในคดีหมายเลขแดงที่ 14169/2538 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 7727/2543 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 3 คือคดีนี้โจทก์อายัดไว้ 5,000 บาท ดังนั้นการอายัดของโจทก์จึงเป็นการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 1 ในจำนวนที่แยกต่างหากจากที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นได้อายัดไว้ จึงไม่ใช่เป็นการอายัดซ้ำแต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share