คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 737/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามที่ยังมิได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและโดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นความผิดตามมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ กระทงหนึ่งส่วนความผิดฐานมีไม้แปรรูปเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามมาตรา 48 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ. เดียวกันอีกระทงหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดในบทบัญญัติเดียวกันไม่ เมื่อ ป.อ. มาตรา 91 ซึ่งบัญญัติถึงการกระทำความผิดหลายกรรมมิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตราย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิด 2 ฐานนี้ออกจากกัน ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะมีไม้แปรรูปและไม้หวงห้ามที่ยังไม่ได้แปรรูปดังกล่าวไว้ในครอบครองในคราวเดียวกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีไม้หวงห้ามซึ่งยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม้เหล่านี้ไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและภายหลังร่วมกันแปรรูปไม้แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง แม้จะบรรยายถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ด้วยว่า การทำไม้และแปรรูปไม้ดังกล่าว เป็นการกระทำตามที่ได้รับการใช้จ้างวานจากจำเลยที่ 6 ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะไม่สามารถเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดในฐานดังกล่าวได้ เพราะไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะมีมูลเหตุจูงใจอย่างไรก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดแล้วกลับกลายเป็นเพียงผู้สนับสนุนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 13, 17 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 11, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 75 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 84, 91 ริบของกลางทั้งหมด จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้แจ้งความนำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 6 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 6 เข้ามาเป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 11 ปี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 5 ปี 6 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันแปรรูปไม้โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ กรณีเป็นเรื่องร้ายแรงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 คนละ 3 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน เมื่อรวมกับโทษในความผิดกระทงอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 คนละ 5 ปี 1 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นสั่งรับมาข้อแรกว่า การกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองและฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อ้างว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีไม้แปรรูป และมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองในคราวเดียวกัน และเป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตราเดียวกันคือมาตรา 48 และ 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวหาใช่หลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า การกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามที่ยังมิได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและโดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นความผิดมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 กระทงหนึ่ง ส่วนความผิดฐานมีไม้แปรรูปเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามมาตรา 48 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันอีกกระทงหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดในบทบัญญัติเดียวกันอย่างที่อ้างไม่ เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งบัญญัติถึงการกระทำความผิดหลายกรรมมิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมจะเกิดขึ้นในวาระเดียวคราวเดียวไม่ได้ ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตราย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิด 2 ฐานนี้ออกจากกัน ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะมีไม้แปรรูปและไม้หวงห้ามที่ยังมิได้แปรรูปดังกล่าวไว้ในครอบครองในคราวเดียวกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ข้อต่อไปว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์บางข้อของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ฎีกาว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ข้อที่ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์โดยชอบจึงไม่มีความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อที่ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ขาดเจตนาในการกระทำความผิดเพราะไม่รู้ว่าไม้ของกลางได้มาโดยไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 สามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เองนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์หรือไม่ก็ดี หรือมีเจตนาในการกระทำความผิดหรือไม่ก็ดีล้วนเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 กระทำความผิดทุกข้อตามฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาไปได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์แล้วตามหนังสือรับรองแจ้งการขอรับใบอนุญาตท้ายอุทธรณ์และอ้างว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่รู้ว่าจำเลยที่ 6 ได้ไม้ของกลางมาโดยไม่ชอบ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ขีดกับคำให้การรับสารภาพและย่อมเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หาใช่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยดังจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อ้างไม่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ข้อต่อไปว่าตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 6 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ฎีกาอ้างว่าสำหรับความผิดฐานร่วมกันมีไม้ที่ยังมิได้แปรรูปและฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 น่าจะมีความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 6 เพราะคำฟ้องโจทก์ปรากฏแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 รับจ้างแปรรูปไม้ให้จำเลยที่ 6 เพื่อประสงค์เงินค่าจ้างจากจำเลยที่ 6 เท่านั้น เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีไม้หวงห้ามซึ่งยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม้เหล่านี้ไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและภายหลังร่วมกันแปรรูปไม้แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง แม้จะบรรยายถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ด้วยว่า การทำไม้และแปรรูปไม้ดังกล่าว เป็นการกระทำตามที่ได้รับการใช้จ้างวานจากจำเลยที่ 6 ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะไม่สามารถเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดในฐานดังกล่าวได้ เพราะไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะมีมูลเหตุจูงใจอย่างไรก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดแล้วกลับกลายเป็นเพียงผู้สนับสนุนได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้จะเป็นคดีที่จำเลยฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้ขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาและศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 หนักเกินไป ก็ย่อมมีอำนาจที่จะกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันทำไม้หรือแปรรูปไม้หวงห้ามในลักษณะเป็นนายทุนมีอิทธิพลเพื่อทำลายป่า จึงสมควรแก้ไขโทษเฉพาะความผิดฐานร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เสียใหม่ให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 คนละ 2 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี รวมโทษจำคุกคนละ 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกคนละ 3 ปี รวมกับโทษในความผิดกระทงอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 คนละ 3 ปี 7 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share