แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลอนุญาตให้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทราบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 ซึ่งจำเลยผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีนี้ได้ทราบคำสั่งศาลและกำหนดวันขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดตามกฎหมายแล้ว ส่วนการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ใดเป็นขั้นตอนวิธีปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นระเบียบภายในของกรมบังคับคดีเพื่อประสงค์จะให้บุคคลภายนอกที่สนใจมาประมูลซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดทรัพย์เท่านั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินการประกาศขายทอดตลาดทางหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยอ้างส่วนการประเมินราคาทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็เป็นเพียงการประเมินราคาในชั้นต้น เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีขายทอดตลาดซึ่งอาจจะไม่ตรงกับราคาที่แท้จริงก็ได้ และการกำหนดราคาเริ่มต้นขายตามประกาศกรมบังคับคดีก็ไม่ได้ผูกมัดจำเลยหรือโจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะต้องเป็นไปตามราคาดังกล่าว แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใดซึ่งหากจำเลยเห็นว่าราคาต่ำไป ก็ชอบที่จะคัดค้านการขายทอดตลาดได้ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลย อันจะเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อขอให้ดำเนินการตามคำร้องของจำเลยได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงิน 2,119,075.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,915,780.35 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยคือที่ดินโฉนดเลขที่ 26113 ตำบลลำไทร (คลองซอยที่ 26 ฝั่งเหนือ) อำเภอวังน้อย (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยประกาศขายทอดตลาดรวม 3 ครั้ง คือวันที่ 5 มิถุนายน 2546 วันที่ 3 กรกฎาคม 2546 และวันที่ 31 กรกฎาคม 2546
จำเลยยื่นคำร้องว่า ประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพียงปิดประกาศไว้ที่สำนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี เท่านั้น เป็นการสกัดกั้นจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลในกรอบจำกัด และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศแนวทางของราคาประมูลทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดไว้เป็นการแจ้งให้ผู้ซื้อทราบถึงราคาซื้อขายในการประมูลล่วงหน้าทำให้เกิดการทุจริตมีการฮั้วการประมูล ขัดต่อกฎหมาย ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดของจำเลยต่ำกว่าความเป็นจริงทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำสั่งยกเลิกและระงับการขายทอดตลาดไว้ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า กรณีตามคำร้องยังไม่มีเหตุให้ระงับการขายทอดตลาดหรือการบังคับคดี จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2544 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 26113 ตำบลลำไทร (คลองซอยที่ 26 ฝั่งเหนือ) อำเภอวังน้อย (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยซึ่งเป็นทรัพย์จำนองเพื่อบังคับคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวของจำเลยไปตามคำสั่งศาล โดยกำหนดขายครั้งที่ 1 ในวันที่ 5 มิถุนายน 2546 ครั้งที่ 2 วันที่ 3 กรกฎาคม 2546 และครั้งที่ 3 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การดำเนินการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการไม่ชอบหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า การประกาศขายทอดตลาดและการประเมินราคาทรัพย์ที่ยึดรวมทั้งการกำหนดราคาเริ่มต้นขายของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น เห็นว่า การดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นไปตามที่กฎหมายระบุไว้ เมื่อศาลอนุญาตให้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งคำสั่งศาลและวันขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 ซึ่งจำเลยผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีนี้ได้ทราบคำสั่งศาลและกำหนดวันขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดตามกฎหมายแล้ว ส่วนการปิดประกาศขายทอดตลาดไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ใดเป็นขั้นตอนวิธีปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นระเบียบภายในของกรมบังคับคดีเพื่อประสงค์จะให้บุคคลภายนอกที่สนใจมาประมูลซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดทรัพย์เท่านั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องดำเนินการประกาศขายทอดตลาดทางหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยอ้าง ส่วนการประเมินราคาทรัพย์สินของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็เป็นเพียงการประเมินราคาในชั้นต้น เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีขายทอดตลาดซึ่งอาจจะไม่ตรงกับราคาที่แท้จริงก็ได้ และการกำหนดราคาเริ่มต้นขายตามประกาศกรมบังคับคดีก็ไม่ได้ผูกมัดจำเลยหรือโจทก์หรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีว่าเมื่อขายทอดตลาดแล้วจะต้องเป็นไปตามราคาดังกล่าว แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใดซึ่งหากจำเลยเห็นว่าราคาต่ำไป ก็ชอบที่จะคัดค้านการขายทอดตลาดได้ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อขอให้ดำเนินการตามคำร้องของจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน