คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ลดราคาค่าบริการของจำเลยโดยไม่มีอำนาจ แต่โจทก์ก็ทำไปตามทางปฏิบัติของจำเลยที่เคยปฏิบัติกันมา ซึ่งคณะกรรมการของจำเลยก็ยอมรับในเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติงานของจำเลยที่เคยทำกันมาในเรื่องอัตราค่าบริการที่โจทก์ใช้คำนวณในเรื่องดังกล่าวนี้ ทั้งโจทก์เองเป็นผู้ตรวจสอบพบเหตุกระทำผิดวินัยแล้วเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทราบ อีกทั้งโจทก์ได้ทำหนังสือขออนุญาตการลดราคาค่าบริการไปยังผู้อำนวยการจำเลยผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น แต่หนังสือขออนุมัติลดราคากลับสูญหายในภายหลังจึงไม่มีผู้ใดทราบว่าผู้อำนวยการจำเลยอนุมัติให้ลดราคาหรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ลดราคาค่าบริการของจำเลยจึงเป็นการกระทำไปภายใต้ธรรมเนียมปฏิบัติงานที่เคยดำเนินการกันมาโดยจำเลยก็ยอมรับให้โจทก์ปฏิบัติเช่นนี้ได้มาโดยตลอด การกระทำของโจทก์จึงมิใช่การจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ อีกทั้งมิได้เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนและความผิดทางละเมิด ฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2545 ที่ให้โจทก์ชดใช้เงินจำนวน 34,500 บาท และรักษาการผู้อำนวยการของจำเลยได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2545 มติของคณะกรรมการจำเลย (บอร์ด) ที่มีมติที่ประชุมครั้งที่ 4/2546 วาระที่ 4.2 ยืนตามมติของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนและความผิดทางละเมิด ให้จำเลยคืนเงิน 7,993.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยหักเงินเดือนของโจทก์จำนวน 2,679.91 บาท นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2546 จำนวน 2,664.50 บาท นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2546 จำนวน 2,669.10 บาท นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 34,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2546 อันเป็นวันที่ฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่จำเลย โดยขอให้หักหนี้กับเงินที่จำเลยหักไว้จากเงินค่าจ้างแล้วจำนวน 2,679 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนของจำเลยที่ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 34,500 บาท เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 และคำสั่งของรักษาการผู้อำนวยการของจำเลยที่เห็นชอบตามมติดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2545 ให้จำเลยจ่ายเงิน 12,475.42 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 2,679.91 บาท นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2546 จากต้นเงิน 2,664.50 บาท นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2546 จากต้นเงิน 2,669.10 บาท นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2546 จากต้นเงิน 2,231 บาท นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 และจากต้นเงิน 2,231 บาท นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จสิ้นแก่โจทก์ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ.2496 มีนายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร กรรมการของจำเลยเป็นผู้รักษาการแทนผู้อำนวยการจำเลย โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งหัวหน้างานฝ่ายขนส่งท่าเรือ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากองพาณิชย์และปฏิบัติการแทนหัวหน้ากองบริการจัดรถท่าเรือ โดยโจทก์มีหน้าที่และลักษณะงานตามข้อกำหนด ลักษณะงาน อำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง เอกสารหมาย ล.4 โจทก์ตรวจสอบพบว่านายสมมาต เศษก้านบัว พนักงานของจำเลยกับพวกลักลอบนำหางรถยนต์เทรลเลอร์ของจำเลย รวม 2 หางหรือคันเข้ารับจ้างบรรทุกสินค้าของบริษัทไปป์ – แจค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด แล้วนำไปจอดพักไว้ที่โรงพักคลังสินค้าโดยไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือโจทก์ทราบ โจทก์จึงทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา ระหว่างนั้นบริษัทไปป์ – แจค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ลดราคาค่าบริการหางรถยนต์เทรลเลอร์ 2 หางหรือคันดังกล่าว โจทก์จึงได้ตกลงลดราคาค่าบริการรวม 46 วัน ลงร้อยละ 15 จากราคารวมคันละ 115,000 บาท ลงเหลือคันละ 97,750 บาท ในต้นเดือนกรกฎาคม 2543 บริษัทไปป์ – แจค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ชำระเงินแก่จำเลยแล้ว ในวันเดียวกันนั้นโจทก์ได้มีหนังสือขออนุมัติการลดค่าบริการดังกล่าวผ่านผู้บังคับบัญชาของโจทก์ระหว่างนั้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2543 จำเลยมีคำสั่ง ที่ กอ.203/2543 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ต่อมาคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดมีความเห็นให้นายสมมาตชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 566,100 บาทแก่จำเลย และเห็นว่าโจทก์ลดราคาให้แก่บริษัทไปป์ – แจค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด โดยปราศจากอำนาจและไม่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 34,500 บาท คืนแก่จำเลย โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแต่คณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยมีมติไม่พิจารณาคำอุทธรณ์ของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า คณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนและความรับผิดทางละเมิดของจำเลยได้พิจารณาพยานหลักฐานอย่างเพียงพอและเป็นธรรมแล้วว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่แต่กลับลดหย่อนค่าเสียเวลาไป ทำให้จำเลยไม่สามารถเรียกร้องเอาแก่บริษัทไปป์ – แจค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด จึงให้โจทก์ชดใช้คืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มิได้บังคับให้ต้องเพิกถอนหากมิได้ปฏิบัติตามศาลจึงควรพิจารณาว่าโจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 หรือไม่ ไม่ควรจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนและความรับผิดทางละเมิดของจำเลยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” บทบัญญัติตามมาตรา 8 นี้ ตามมาตรา 10 ให้นำมาใช้แก่กรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย การที่จะพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่ จึงต้องได้ความว่าเจ้าหน้าที่นั้นได้กระทำการใดไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐโดยให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่ง จำนวนไม่เกินห้าคน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำละเมิดโดยคณะกรรมการต้องให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือผู้เสียหายได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม ความเห็นของคณะกรรมการต้องมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่แจ้งชัดและต้องมีพยานหลักฐานที่สนับสนุนประกอบด้วย ซึ่งหลักในการรับฟังผู้ที่จะถูกกระทบสิทธิและการให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยนี้มีความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและการควบคุมตรวจสอบคำวินิจฉัย จึงเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ซึ่งจะละเลยไม่ได้ แต่จากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาปรากฏว่าจำเลยเพียงแต่ให้โจทก์ชี้แจงเกี่ยวกับการคิดคำนวณอัตราค่าบริการของจำเลยเกี่ยวกับมูลกรณีที่นายสมมาตกระทำผิดวินัย ในทำนองเป็นการให้ข้อเท็จจริงแก่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่เป็นกิจจะลักษณะว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาให้โจทก์ทราบหรือรู้ตัวว่าตนเข้าใจข้อเท็จจริงในฐานะผู้ถูกกล่าวหา และไม่ปรากฏว่ามีการให้โจทก์รู้ตัวและมีโอกาสแสดงพยานหลักฐาน สำหรับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามคำสั่งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ที่ กอ.342/2544 เอกสารหมาย ล. 14 ตามคำสั่งนี้ระบุเพียงว่านายสมมาต เศษก้านบัว ได้สั่งการให้นายประสงค์ วงษ์สวัสดิ์ และนายไพรัตน์ ดาวท่าน พนักงานขับรถยนต์นำหางโลว์บอยเข้าบรรทุกสินค้าโอเวอร์ไซด์ในท่าเรือกรุงเทพโดยพลการ เป็นเหตุให้องค์การเสียหายขาดรายได้เป็นเงิน 566,100 บาท เท่านั้น โดยไม่ได้กล่าวถึงกรณีการลดราคาค่าบริการของโจทก์ด้วยว่าให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดพิจารณากรณีของโจทก์ด้วยแต่อย่างใด และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดก็ได้รายงานผลการสอบสวนตามเอกสารหมาย ล. 15 เพียงกรณีการกระทำของนายประสงค์ วงศ์สวัสดิ์ นายไพรัตน์ ดาวท่าน และนายสมมาต เศษก้านบัว เท่านั้น และมีความเห็นให้นายสมมาต เศษก้านบัว ชดใช้เงินคืนแก่จำเลยโดยไม่ได้กล่าวถึงการกระทำใดของโจทก์จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อพิจารณาการกระทำของโจทก์ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และการที่จำเลยเพียงแต่ให้โจทก์ชี้แจงเกี่ยวกับการคิดคำนวณอัตราค่าบริการ โจทก์จึงแจ้งข้อเท็จจริงแก่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามเอกสาร หมาย ล. 12 โดยที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่โจทก์ก็เป็นการไม่ให้โอกาสแก่โจทก์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม การพิจารณาให้โจทก์ชดใช้คืนค่าขาดรายได้ก็เป็นความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนและความรับผิดทางละเมิด มิใช่ความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หมวด 1 กรณีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ อันเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มติของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนและความรับผิดทางละเมิด เอกสารหมาย ล. 20 และคำสั่งของรักษาการผู้อำนวยการจำเลยที่เห็นชอบตามมติดังกล่าวท้ายเอกสารหมาย ล. 20 จึงไม่ชอบ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการพิจารณารายงานการสอบสวนของจำเลยและคำสั่งของรักษาการผู้อำนวยการของจำเลยที่เห็นชอบตามมติดังกล่าวจึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยประการนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์จำเลยประการต่อไปว่า โจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่ และที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์มีข้อสัญญากับจำเลยว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งระเบียบและข้อบังคับของจำเลยซึ่งจำเลยมีคำสี่งให้เก็บเงินค่าเสียเวลาเมื่อผู้ว่าจ้างไม่สามารถนำสินค้าไปยังปลายทางได้ซึ่งต้องค้างคืน ให้คิดค่าเสียเวลาบรรทุกสินค้า 2,500 บาท ต่อคืนต่อคัน โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีอำนาจลดหย่อนอัตราค่าเสียเวลาซึ่งเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าการที่โจทก์ลดราคาค่าบริการของจำเลยโดยไม่มีอำนาจ แต่โจทก์ก็ทำไปตามทางปฏิบัติของจำเลยที่เคยปฏิบัติกันมา ซึ่งคณะกรรมการของจำเลยก็ยอมรับในเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติงานของจำเลยที่เคยทำกันมาในเรื่องอัตราค่าบริการที่โจทก์ใช้คำนวณในเรื่องดังกล่าวนี้ ทั้งโจทก์เองเป็นผู้ตรวจสอบพบเหตุกระทำผิดวินัยแล้วเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทราบ อีกทั้งโจทก์ได้ทำหนังสือขออนุญาตการลดราคาค่าบริการไปยังผู้อำนวยการจำเลยผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น แต่หนังสือขออนุมัติลดราคากลับสูญหายในภายหลังจึงไม่มีผู้ใดทราบว่าผู้อำนวยการจำเลยอนุมัติให้ลดราคาหรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ลดราคาค่าบริการของจำเลยจึงเป็นการกระทำไปภายใต้ธรรมเนียมปฏิบัติงานที่เคยดำเนินการกันมาโดยจำเลยก็ยอมรับให้โจทก์ปฏิบัติเช่นนี้ได้มาโดยตลอด การกระทำของโจทก์จึงมิใช่การจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 อีกทั้งมิได้เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยทั้งสองประการข้างต้นฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยประการสุดท้ายว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้นถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกคืนเงินที่จำเลยหักไว้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่เนื่องจากจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับกรณีพนักงานฟ้องเรียกเงินเดือนที่นายจ้างหักไว้โดยไม่ชอบ จึงให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายข้างต้น อุทธรณ์จำเลยประการนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share