คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6476/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กับพวกเพียง 5 คน นั่งมาด้วยกันบนรถโดยสารประจำทาง ส่วนผู้ตายกับพวกมีจำนวนประมาณ 30 คนที่ยืนคอยรถโดยสารประจำทางอยู่การที่ฝ่ายผู้ตายกับพวกอาศัยพวกมาก ขึ้นไปทำร้ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงเป็นการ ประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงจำเป็นต้องป้องกันสิทธิของตนเอง หาใช่เป็นการสมัครใจเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ไม่ การที่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ถอดเข็มขัดและใช้หัวเข็มขัดป้องกันขัดขวาง มิให้ฝ่ายผู้ตายขึ้นมาบนรถทางประตูหน้าและประตูหลัง แสดงว่า ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ และไม่ได้ความว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเกิดจาก การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5จึงไม่ต้องรับโทษฐานชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้คนตาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 พาอาวุธมีดปลายแหลม 1 เล่มไปตามถนนพญาไทมุ่งหน้าไปทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอันเป็นในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 กลุ่มหนึ่ง กับจำเลยที่ 6 ที่ 7นายอนุสรณ์ ประทุมวัลย์ หรือประทุมวัน กับพวกที่ยังหลบหนีอีกกลุ่มหนึ่งได้เข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ชกต่อยทำร้ายร่างกายกันระหว่างชุลมุนต่อสู้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดปลายแหลมที่พกพาไปฟันและแทงทำร้ายร่างกายนายอนุสรณ์ที่บริเวณสีข้างทะลุเยื่อหุ้มหัวใจเข้าไปถูกปลายหัวใจและขั้วปอดซ้ายโดยมีเจตนาฆ่าและนายอนุสรณ์ได้ถึงแก่ความตายจากบาดแผลดังกล่าวสมดังเจตนาของจำเลยที่ 1ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 288, 294, 371 และริบอาวุธมีดปลายแหลม 1 เล่มของกลาง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 6 และที่ 7ให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางสาววิไลวรรณ ตรีบำรุง มารดานายอนุสรณ์ ประทุมวัน ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 294 และ 288 รวม 3 กระทงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 อายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วเรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 371 ปรับ 50 บาท ตามมาตรา 294จำคุก 6 เดือน และตามมาตรา 288 จำคุก 8 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 8 ปี 6 เดือน และปรับ 50 บาท แต่โทษจำคุกไม่เหมาะสมกับจำเลยที่ 1 ให้ส่งจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลางมีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 4 ปีนับแต่วันพิพากษา จำเลยที่ 1 ถูกควบคุมตัวพอแก่โทษปรับแล้วจึงไม่ต้องชำระ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้รอการกำหนดโทษไว้คนละ 2 ปี นับแต่วันพิพากษา และให้คุมความประพฤติโดยมีเงื่อนไขคือให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ให้เรียนหนังสือหรือประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะห้ามเกี่ยวข้องยาเสพติดทุกชนิด ห้ามเล่นการพนัน ห้ามเที่ยวกลางคืน สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 7 เมื่อได้คำนึงถึงอายุประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ นิสัยอาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิดรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกลาง ประกอบคำแถลงของผู้ปกครองจำเลยแล้ว ปรากฏว่าขณะกระทำผิดจำเลยที่ 6 และที่ 7 มีอายุ 17 ปีเศษเพิ่งกระทำผิดเป็นครั้งแรกผู้ปกครองจำเลยยังห่วงใย เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 6 และที่ 7 กลับตนเป็นคนดี อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กับอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 106 ให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 6 และที่ 7ไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยที่ 6 และที่ 7มีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ห้ามเกี่ยวข้องยาเสพติดและสิ่งมึนเมาทุกชนิดห้ามคบสมาคมกับบุคคลความประพฤติไม่ดี ห้ามเที่ยวเตร่ยามวิกาลและห้ามเล่นการพนัน ให้อยู่ในโอวาทคำสั่งของผู้ปกครองโดยเคร่งครัด ให้เข้าศึกษาต่อและให้ตั้งใจศึกษา โดยให้นำหลักฐานการเข้าศึกษาหรือหลักฐานการติดต่อเพื่อเข้าศึกษาและผลการศึกษามาแสดงต่อพนักงานคุมประพฤติทุกครั้งที่มารายงานตัวด้วยริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะในส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ ขณะที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนอำนวยศิลป์นั่งอยู่บนรถโดยสารประจำทางสาย 92ซึ่งจอดติดสัญญาณไฟจราจรสีแดง มีนายอนุสรณ์ ประทุมวัลย์หรือประทุมวัน ผู้ตายกับพวกไม่น้อยกว่า 10 คน ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนศิลปะพระนคร และกำลังยืนอยู่ที่ป้ายจอดรถโดยสารประจำทาง ได้พากันวิ่งขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางคันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นั่งอยู่และเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันประมาณ 1 ถึง 2 นาที ก็แยกย้ายกันหลบหนี หลังเกิดเหตุผู้ตายมีบาดแผลถูกของแข็งมีคมแทงรวม 4 แผล บริเวณอกขวาส่วนบนบริเวณสีข้างขวา บริเวณพับศอกขวาและบริเวณลิ้นปี่ค่อนด้านขวาโดยมีวิถี การแทงจากขวาไปซ้าย จากหน้าไปหลัง และจากล่างขึ้นบนบาดแผลบริเวณลิ้นปี่ทะลุเยื่อหุ้มหัวใจ ถูกปลายหัวใจห้องล่างขวาทะลุเยื่อหุ้มหัวใจด้านหลัง และถูกขั้วปอดซ้าย แผลลึกประมาณ 12 เซนติเมตร และโลหิตออกเต็มช่องปอดทั้งสองข้าง ทำให้ถึงแก่ความตาย ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมมีว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่พยานโจทก์มีนายโสภณ ทับทิมสี และนายยิ่งยศ พูลศรี เบิกความว่า เมื่อเกิดเหตุชุลมุนวิวาทต่อสู้กันประมาณ 3 ถึง 4 นาทีพยานทั้งสองกับพวกประมาณ 7 ถึง 8 คน จึงวิ่งไปดูเหตุการณ์ที่รถโดยสารประจำทางที่เกิดเหตุ เห็นผู้ตายกำลังวิ่งลงจากรถโดยสารประจำทางบริเวณประตูหลัง และเห็นจำเลยที่ 1ถือมีดปลายแหลมยืนอยู่ที่บริเวณประตูหลังรถหันหน้าไปทางหน้ารถและใช้มีดปลายแหลมดังกล่าวแทงผู้ตายบริเวณหน้าอกขณะผู้ตายกำลังจะก้าว ลงบันไดหลัง ผู้ตายวิ่งถลาลงจากรถและมีโลหิตออกที่เสื้อ พยานโจทก์ทั้งสองจึงเข้าประคองผู้ตายและอุ้มผู้ตายพาตัวส่งโรงพยาบาลสิบตำรวจตรีธีระศักดิ์ หนองหงอกเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุจับกุมนักเรียนที่ก่อเหตุชุลมุนต่อสู้ได้ 20 กว่าคน ทั้งในที่เกิดเหตุและที่โรงพยาบาล จำเลยที่ 1 ถูกจับที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เบิกความเป็นพยานจำเลยว่าเมื่อเห็นผู้ตายกับพวกซึ่งมีประมาณ 20 คนวิ่งตรงมาที่รถโดยสารประจำทางและยิงหนังสติ๊กขึ้นมาบนรถ โดยมีมีดยาวถือมาด้วย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงถอดเข็มขัดออกเป็นอาวุธและแยกย้ายกันไปยืนที่ประตูทางขึ้นรถโดยสารประจำทางทั้งด้านหน้าและด้านหลังเพื่อป้องกันมิให้พวกผู้ตายขึ้นมาบนรถ แต่ผู้ตายกับพวกประมาณ 6 ถึง 7 คนขึ้นรถมาได้และเกิดชุลมุนต่อสู้กันประมาณ 1 ถึง 2 นาที จำเลยที่ 1 ไม่มีอาวุธมีดและถูกฟันที่ใบหน้าและข้างหลัง จำเลยที่ 1 จึงลงจากรถและไปแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่ป้อมตำรวจบริเวณดังกล่าวแล้วจึงไปทำบาดแผลที่โรงพยาบาล เห็นว่า นายโสภณและนายยิ่งยศวิ่งไปที่รถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุพร้อมกับพวกอีกประมาณ 7 ถึง 8 คน โดยเหตุผลนอกจากพยานโจทก์ทั้งสองแล้วน่าจะมีบุคคลอื่นในกลุ่มที่วิ่งไปด้วยกันดังกล่าวรู้เห็นเหตุการณ์ด้วย การที่โจทก์มีนายโสภณและนายยิ่งยศเห็นเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายเพียงลำพังสองคนเท่านั้นทำให้คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองขาดความหนักแน่นและมีน้ำหนักเชื่อถือได้น้อยและเมื่อพิเคราะห์ถึงว่าพยานโจทก์ทั้งสองมองเห็นเหตุการณ์พร้อมกันแม้จะได้ความว่านายยิ่งยศยืนอยู่ด้านหลังนายโสภณแต่เป็นการยืนบนพื้นผิวถนนด้วยกันทั้งคู่ไม่ได้ขึ้นไปบนตัวรถซึ่งอยู่สูงกว่าระดับผิวถนน จึงเป็นการมองเหตุการณ์จากด้านล่างขึ้นไปทางช่องประตูหลังบนรถ โดยเหตุผลจึงไม่บังกันและสามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนอย่างเดียวกัน แต่พยานโจทก์ทั้งสองกลับเบิกความแตกต่างกัน โดยนายโสภณเห็นจำเลยที่ 1ใช้มีดปลายแหลมแทงหน้าอกผู้ตาย ส่วนนายยิ่งยศเห็นจำเลยที่ 1ขณะกำลังดึงมีดปลายแหลมออกจากตัวผู้ตาย พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความยืนยันว่า ผู้ตายยังคงวิ่งถลาลงจากรถและพยานโจทก์ทั้งสองเข้าประคองไว้ได้และเบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ถามค้านว่าก่อนที่จะเห็นผู้ตายถูกจำเลยที่ 1แทงนั้น เห็นผู้ตายวิ่งจากบริเวณกลางรถโดยสารประจำทางมาที่บริเวณทางลงท้ายรถ จากคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 แทงผู้ตายเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่จากรายงานการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ผู้ตายมีบาดแผลตามร่างกายถึง 4 แห่ง แสดงว่าผู้ตายจะต้องถูกแทงทำร้ายไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ตามจำนวนบาดแผลที่ปรากฏคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองที่เห็นจำเลยที่ 1แทงผู้ตายเพียงครั้งเดียว จึงขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นข้อพิรุธ นายโสภณและนายยิ่งยศเบิกความว่า หลังเกิดเหตุได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่ารู้เห็นเหตุการณ์และได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนไว้ตามเอกสารหมาย จ.20 และ จ.19ซึ่งเป็นการให้ถ้อยคำในวันเดียวกันกับวันเกิดเหตุอันเป็นเวลาใกล้ชิดต่อเนื่องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายโสภณและนายยิ่งยศยังไม่มีเวลาและโอกาสที่จะต่อเติมเสริมแต่งหรือบิดเบือนเหตุการณ์เป็นอย่างอื่นเพื่อให้ผิดไปจากความเป็นจริงจึงมีเหตุผลเชื่อว่า นายโสภณและนายยิ่งยศให้การไปตามที่รู้เห็นเกี่ยวข้องแท้จริง ซึ่งข้อความในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายโสภณและนายยิ่งยศระบุว่านายโสภณและนายยิ่งยศไม่เห็นผู้ใดใช้อาวุธทำร้ายผู้ตาย เพียงแต่เห็นนักเรียนชายโรงเรียนเดียวกันกับจำเลยที่ 1 คนหนึ่งยืนถือมีดปลายแหลมยาวประมาณ 6 นิ้ว เปื้อนโลหิตอยู่บนรถประจำทางคันเกิดเหตุ และมีตำหนิรูปพรรณอายุประมาณ 17 ปี สูงประมาณ 170 เซนติเมตร ผิวดำแดง คิ้วดก คางเหลี่ยม ส่วนอื่นปกติธรรมดา หากเห็นอีกครั้งสามารถจำได้ คำให้การของนายโสภณและนายยิ่งยศในชั้นสอบสวนมิได้บ่งบอกระบุว่าจำเลยที่ 1 มีบาดแผลที่ใบหน้าบริเวณด้านซ้ายไว้ด้วย ซึ่งเป็นตำหนิสำคัญที่จะทำให้สังเกตจดจำจำเลยที่ 1 ได้ง่ายยิ่งขึ้นและจะเป็นข้อชี้ยืนยันแต่แรกให้เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองจำจำเลยที่ 1 ได้จริง แต่กลับปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสองเพิ่งจะมาระบุถึงบาดแผลดังกล่าวเพิ่มเติมในวันรุ่งขึ้นจึงมีข้อพิรุธและส่อให้เห็นว่าต้องการยืนยันว่าจำเลยที่ 1เป็นคนทำร้ายผู้ตาย คำให้การของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจึงขัดแย้งกับคำเบิกความในชั้นพิจารณาและประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงต่อความจริงไว้ ข้อขัดแย้งดังกล่าวจึงทำให้คำเบิกความของนายโสภณและนายยิ่งยศไม่มีน้ำหนักพอที่จะเชื่อถือรับฟัง และเมื่อพิจารณาถึงว่าจำเลยที่ 1ถูกจับในวันเกิดเหตุพร้อมกับพวกและคนอื่น ๆ โดยมีตัวบุคคลอ้างว่าเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์และจำตัวคนร้ายที่เห็นถืออาวุธมีดได้ โดยเหตุผลพนักงานสอบสวนน่าที่จะจัดให้นายโสภณและนายยิ่งยศดูตัวผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมทั้งหมดในวันดังกล่าวทันทีเพื่อหาตัวคนร้ายที่แทงผู้ตาย แต่พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ดำเนินการในวันนั้น และได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีสุวพันธ์ เกิดเล็ก ผู้จับกุมว่า สาเหตุที่ไม่ได้แจ้งข้อหาผู้ต้องหาคนใดว่ากระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นเนื่องจากในชั้นจับกุมไม่มีพยานหลักฐานพอที่จะบ่งชี้ว่าผู้ใดเป็นคนฆ่าผู้ตาย ข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลน่าเชื่อตามคำให้การของบุคคลทั้งสองในชั้นสอบสวนว่าบุคคลทั้งสองไม่เห็นตัวคนที่ทำร้ายผู้ตาย และจากคำเบิกความของนายดำรง สุขสาสะนี พนักงานขับรถโดยสารประจำทางและนายอำนวยแหวนเงิน พนักงานเก็บค่าโดยสารได้ความเพียงว่าเห็นจำเลยที่ 1 กับพวกใช้หัวเข็มขัดเป็นอาวุธทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งและเหตุเกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายตะโกนท้าทายกันไปมา แล้วฝ่ายผู้ตายซึ่งมีจำนวนมากกว่าวิ่งตรงมาที่ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกที่อยู่บนรถโดยสารประจำทางและพยายามป้องกันมิให้ฝ่ายผู้ตายขึ้นมาบนรถ จึงเกิดการชุลมุนต่อสู้กันเพียง2 ถึง 3 นาที ก็พากันวิ่งแยกย้ายกันหลบหนีและไม่เห็นมีการอุ้มคนบาดเจ็บแต่อย่างใด ในส่วนมีดของกลางที่พันตำรวจตรีสุวพันธ์พบในถังขยะห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 50 เมตร และมีคราบโลหิตมนุษย์ติดอยู่ ซึ่งจากรายงานการตรวจพิสูจน์ของแพทย์เป็นคราบโลหิตมนุษย์หมู่โอ ซึ่งเป็นหมู่เดียวกับโลหิตของผู้ตายตามที่ปรากฏในรายงานการตรวจศพผู้ตายและผู้ตายมีบาดแผลถูกของแข็งมีคมเป็นแผลลึกถึง 12 เซนติเมตร แสดงว่า อาวุธมีดที่ใช้แทงผู้ตายจะต้องมีความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ขึ้นไป ซึ่งจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีพิสิษฐ์ ธรรมสุริยะ แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรพลิกศพผู้ตายเบิกความยืนยันดังกล่าวโดยดูจากลักษณะบาดแผลและยืนยันว่าอาวุธดังกล่าวปลายจะต้องมีคมส่วนบริเวณปลายจะเป็นปลายแหลมหรือปลายตัดยืนยันไม่ได้ และตามบัญชีของกลางอาวุธมีดที่พบคราบโลหิตของผู้ตายเป็นมีดหัวตัดยาว 1 ฟุตด้ามไม้ ไม่ปรากฏว่าพบอาวุธมีดอื่นใดในที่เกิดเหตุอีกและจากคำเบิกความของพยานโจทก์ก็ยืนยันว่ามีดที่เห็นจำเลยที่ 1ถือเป็นมีดปลายแหลมคนละเล่มกับมีดของกลางที่พบจึงน่าเชื่อว่าอาวุธมีดปลายแหลมดังกล่าวน่าจะเป็นอาวุธที่ใช้ทำร้ายผู้ตายมากกว่าส่วนผลการตรวจพิสูจน์รอยคราบโลหิตที่ติดกับเสื้อตามเอกสารหมาย จ.10 ก็ปรากฏว่าคราบโลหิตดังกล่าวเป็นคราบโลหิตหมู่เอซึ่งเป็นคนละหมู่กับของผู้ตาย แสดงว่าคราบโลหิตดังกล่าวไม่ใช่ของผู้ตาย เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1ที่นำสืบมาขัดแย้งและมีข้อพิรุธ กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายจริงหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมต่อไปมีว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต้องรับโทษในการชุลมุนต่อสู้และมีผู้ร่วมชุลมุนต่อสู้ถึงแก่ความตายหรือไม่ นายโสภณและนายยิ่งยศพยานโจทก์เบิกความว่าพยานกับเพื่อนนักเรียนโรงเรียนศิลปะพระนคร ประมาณ 30 คน ยืนรอรถโดยสารประจำทางบริเวณป้ายจอดรถโดยสารประจำทางด้านโบสถ์เซเวีย มีรถโดยสารประจำทางสาย 92 ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นั่งอยู่บนรถผ่านมา และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตะโกนท้าทายด่าว่านักเรียนกลุ่มของพยานในลักษณะให้มาต่อสู้ทำร้ายกัน เมื่อรถโดยสารประจำทางคันดังกล่าวหยุดจอดเพราะติดไฟสัญญาณจราจรสีแดงห่างจากกลุ่มของพยานประมาณ 7 ถึง 8 เมตร ผู้ตายและนักเรียนโรงเรียนเดียวกับพยานประมาณ 10 กว่าคน วิ่งไปขึ้นรถโดยสารประจำทางดังกล่าวทั้งทางด้านหน้าและด้านหลังและมีการชุลมุนต่อสู้กันขึ้นนายอำนวยพยานโจทก์เบิกความว่า นักเรียนทั้งสองกลุ่มร้องตะโกนท้าทายกัน ฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตะโกนว่าแน่จริงเข้ามาเลย สิบตำรวจตรีธีระศักดิ์พยานโจทก์เบิกความว่าจับกุมนักเรียนได้ 21 คน และยังมีหลบหนีไปอีกหลายคนในจำนวนนี้เป็นนักเรียนฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 รวม 5 คนจากคำเบิกความของพยานโจทก์ข้างต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1กับพวกเพียง 5 คน เท่านั้นที่นั่งมาด้วยกันบนรถโดยสารประจำทางส่วนผู้ตายกับพวกมีจำนวนประมาณ 30 คน ที่ยืนคอยรถโดยสารประจำทางอยู่จึงเป็นจำนวนที่แตกต่างกันมาก โดยเหตุผลไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะเป็นฝ่ายก่อเหตุร้องด่าท้าทายพวกของผู้ตายซึ่งมีจำนวนมากกว่าให้มาต่อสู้กันดังกล่าวและจากคำเบิกความของสิบตำรวจตรีธีระศักดิ์ฝ่ายผู้ตายถูกจับถึง 16 คน และยังมีที่หลบหนีไม่ถูกจับกุมไปได้อีกซึ่งน่าจะมีอีกเป็นจำนวนมาก ข้อเท็จจริงเชื่อว่าฝ่ายผู้ตายน่าจะถือโอกาสที่ฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีจำนวนน้อยกว่าจึงอาศัยพวกมากเข้ารุมทำร้ายโดยยกพวกขึ้นไปทำร้ายจำเลยที่ 1ถึงที่ 5 บนรถโดยสารประจำทางดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ต่อสู้กับพวกของผู้ตายจึงมิใช่เป็นการสมัครใจเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ตามฟ้องของโจทก์ แม้จะได้ความว่ามีการร้องด่าท้าทายกันก่อนเกิดเหตุก็ตาม หากไม่มีฝ่ายใดก่อเหตุขึ้นก่อนเรื่องก็คงยุติเพียงเท่านั้น การที่ฝ่ายผู้ตายกับพวกขึ้นไปทำร้ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ดังกล่าวจึงเป็นการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5จึงจำเป็นต้องป้องกันสิทธิของตนเอง และได้ความจากนายดำรงและนายอำนวยพยานโจทก์ว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ขึ้นมาบนรถโดยสารประจำทางนั้นไม่ได้ถือกระเป๋า ถือแต่เพียงสมุดและไม่เห็นมีอาวุธ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ถอดเข็มขัดและใช้หัวเข็มขัดป้องกันขัดขวางมิให้ฝ่ายผู้ตายขึ้นมาบนรถทางประตูหน้าและประตูหลัง แสดงว่า ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ และไม่ได้ความว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จึงไม่ต้องรับโทษฐานชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้คนตาย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในส่วนจำเลยที่ 6 และที่ 7 ยังมีผลคำพิพากษาที่ยุติและต้องบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเห็นควรระบุเสียให้ชัดแจ้ง”
พิพากษายืน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ส่วนจำเลยที่ 6 และที่ 7 ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share