แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากร โจทก์จึงนำหนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 มาฟ้องจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวขอให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 ได้ การที่โจทก์นำหนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 มาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ย่อมอุทธรณ์เฉพาะคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ได้โดยไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์คดีสำหรับจำเลยที่ 1ด้วย เพียงแต่การพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 9 ตามที่พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14 บัญญัติไว้ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 89 ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์อ้างว่า โจทก์จะอุทธรณ์เพื่อให้จำเลยที่ 2ล้มละลายแต่ลำพังไม่ได้และไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เสียภาษีอากรไม่ถูกต้องครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงตรวจสอบการเสียภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ภาษีอากรรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,412,539 บาท(ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์23,864 บาท กับเจ้าพนักงานของโจทก์ยึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดได้เงินอีก 25,182.89 บาทคงเหลือหนี้ภาษีอากรค้างชำระทั้งสิ้น 1,363,492.11 บาท(ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวคนละ 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระและปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ ส่วนจำเลยที่ 2 ออกไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องบังคับจำนองยึดที่ดินจำนวน 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้จำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์และพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ชอบหรือไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อ้างพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89 เป็นเหตุยกอุทธรณ์ของโจทก์โดยไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2ในฐานะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดให้ล้มละลายตามจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ของจำเลยที่ 1 มิใช่หนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คดีสำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์จะอุทธรณ์เพื่อขอให้จำเลยที่ 2ล้มละลายแต่ลำพังไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยไม่จำกัดจำนวน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077(2) จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจึงต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากร โจทก์จึงนำหนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 มาฟ้องจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวขอให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 ได้อยู่แล้วคดีนี้โจทก์น้ำหนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 มาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลาย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ย่อมจะอุทธรณ์เฉพาะคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ได้โดยไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย เพียงแต่การพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 9 ตามที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 บัญญัติไว้กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 89 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกมาตรา 89 ขึ้นอ้างว่าโจทก์จะอุทธรณ์เพื่อให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายแต่ลำพังไม่ได้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ชอบ จึงไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์มานั้นเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี