แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ช. ซื้อเครื่องประดับจากผู้เสียหายและค้างชำระราคาอยู่ 700,000 บาท จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวนเงิน250,000 บาท กับเช็คอีก 2 ฉบับ จำนวนเงิน 450,000 บาทให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ค่าเครื่องประดับที่ ช.ซื้อจากผู้เสียหาย ซึ่งเครื่องประดับที่ซื้อมีแหวนเพชร 5 วงกำไลเพชร 3 วง จำเลยได้คืนกำไลเพชรให้ 1 วงแล้วแต่ไม่ได้ความแจ้งชัดว่าเครื่องประดับแต่ละชิ้นมีราคาเท่าใดกำไลเพชรที่จำเลยคืนให้นั้นราคาเท่าใด เมื่อคืนกำไลเพชรแล้วเป็นการหักหนี้จำนวนเท่าใด และเป็นการคืนก่อนหรือหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ดังนั้น กรณีอาจเป็นได้ว่าจำเลยคืนกำไลเพชรให้ก่อนที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งทำให้หนี้ลดลงและมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนเงินในเช็คพิพาทแต่โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้ได้ความชัดว่าหนี้ตามเช็คพิพาทยังมีอยู่ นับว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับตามกฎหมายได้หรือไม่ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4และขอให้นับโทษของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 17489/2538 ของศาลชั้นต้นเพราะเป็นบุคคลคนเดียวกัน
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ให้จำคุก 4 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 17489/2538 เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา จึงให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าเดิมนางชลรส จันทมาลา เป็นผู้ซื้อเครื่องประดับจากผู้เสียหายและค้างชำระราคาอยู่ 700,000 บาท ต่อมาจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวนเงิน 250,000 บาท กับเช็คอีก 2 ฉบับจำนวนเงินรวม 450,000 บาท ให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ค่าเครื่องประดับที่ นางชลรส ซื้อจากผู้เสียหาย สำหรับเครื่องประดับที่ซื้อมี แหวนเพชร 5 วง กำไลเพชร 3 วง และปรากฏว่าผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าจำเลยได้คืนกำไลเพชรให้ 1 วง เห็นว่า ตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวไม่ได้ความแจ้งชัดว่าเครื่องประดับแต่ละชิ้นมีราคาเท่าใดและกำไลเพชรที่จำเลยคืนให้นั้นราคาเท่าใด เมื่อคืนกำไลเพชรแล้วเป็นการหักหนี้จำนวนเท่าใด และเป็นการคืนก่อนหรือหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น ดังนั้น กรณีอาจเป็นได้ว่าจำเลยคืนกำไลเพชรให้ก่อนที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินซึ่งทำให้หนี้ลดลงและมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนเงินในเช็คพิพาทแต่โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้ได้ความชัดว่าหนี้ตามเช็คพิพาทยังมีอยู่ เช่นนี้นับว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับตามกฎหมายได้หรือไม่ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน