คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1141/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อธิบดีกรมโจทก์ได้รับรายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งว่าคือจำเลยทั้งสอง ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2528 ถือว่าโจทก์ได้รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว แม้ต่อมาจะมีการสอบสวนเพิ่มเติมแต่ผลการสอบสวนก็หาได้เปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบไม่ และแม้จะได้มีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมอ.ก.พ. ของโจทก์ ซึ่งมีอธิบดีกรมโจทก์เป็นประธานในที่ประชุมหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายในวันที่ 16 กันยายน 2529 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้จำเลยทั้งสองรับผิดก็ตาม ก็หาทำให้อายุความในมูลละเมิดหนึ่งปีที่กฎหมายกำหนดไว้ในการเรียกร้องค่าเสียหายขยายตามไม่เพราะมิฉะนั้นแล้วอายุความดังกล่าวก็จะขยายออกไปได้เรื่อย ๆแล้วแต่ความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์ ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2530 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาล จำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งยาม ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อละเว้นไม่เดินตรวจตราดูแลทรัพย์สิน และความสงบเรียบร้อยในบริเวณสถาบันวิจัยพืชไร่ของโจทก์ เป็นเหตุให้มีคนร้ายเข้ามาเอาสารเคมีปราบศัตรูพืช รวมราคา 440,700 บาท ของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาทรัพย์จำนวน 440,700 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองเข้าเวรคนละผลัด จำเลยทั้งสองได้เดินตรวจตราดูแลทรัพย์สินและความสงบเรียบร้อย ตามหน้าที่มิได้บกพร่องหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีกทั้งโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง ตามเอกสารหมาย จ.2ได้เสนอความเห็นถึงอธิบดีกรมโจทก์ ผ่านกองการเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2528 ว่าการที่คนร้ายได้งัดฝาผนังของโรงเก็บปุ๋ย-ยา และลักเอายาปราบศัตรูพืชไปได้ย่อมแสดงให้เห็นว่านายประมวลกับนายน้อยบกพร่องต่อหน้าที่ อันเป็นเหตุให้ยาปราบศัตรูพืชดังกล่าวถูกลักไป จึงเห็นว่านายประมวลกับนายน้อย(จำเลยทั้งสอง) จะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ยาปราบศัตรูพืชที่หายไปเป็นเงิน 440,700 บาท ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่มีความเห็นว่าจะต้องทำการสอบสวนเพิ่มเติมและนายยุกติ สาริกะภูติ อธิบดีกรมโจทก์ มีคำสั่งให้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมตามความเห็นของผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2528 แต่การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าว จากคำเบิกความของนายยุกติว่าเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยทั้งสอง เพื่อจะทราบว่ามีบุคคลอื่นที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองอีกหรือไม่ แสดงว่าอธิบดีกรมโจทก์ได้รู้ถึงตัวผู้ต้องรับผิดทางแพ่งตามรายงานของคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งตามเอกสารหมาย จ.2 แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2528 อันเป็นวันที่อธิบดีกรมโจทก์ได้รับรายงานถึงผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง แม้ต่อมาจะมีการสอบสวนเพิ่มเติมแต่ผลการสอบสวนก็หาได้เปลี่ยนแปลงตัวผู้รับผิดชอบแต่อย่างใดไม่ และแม้จะได้มีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม อ.ก.พ. กรมวิชาการเกษตรซึ่งมีอธิบดีกรมโจทก์เป็นประธานในที่ประชุมหลายครั้ง และครั้งสุดท้ายในวันที่ 16 กันยายน 2529ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้จำเลยทั้งสองรับผิดก็ตาม ก็หาทำให้อายุความในมูลละเมิดหนึ่งปีที่กฎหมายกำหนดไว้ในการเรียกร้องค่าเสียหายขยายตามไม่ เพราะมิฉะนั้นแล้วอายุความดังกล่าวก็จะขยายออกไปได้เรื่อย ๆ แล้วแต่ความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์คดีฟังได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยทั้งสอง ตั้งแต่อธิบดีกรมโจทก์ได้รับรายงานผลการสอบสวนแล้วตั้งแต่วันที่ 26สิงหาคม 2528 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2530 เกินกว่า1 ปีนับแต่วันรู้ถึงตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share