คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3454/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงไว้ในคำฟ้องข้อ 1 ค. ว่า หลังจาก จำเลยขับรถด้วยความประมาทแล้วผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจราจรและได้รับแจ้งเหตุให้สกัดจับจำเลยได้ออกมายืนสกัดอยู่กลางถนนและให้สัญญาณมือให้จำเลยหยุดรถเพื่อจับกุมดำเนินคดี อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่จำเลยขับรถพุ่งเข้าชนผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่าเพื่อขัดขวางการจับกุม ซึ่งเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสองแต่โจทก์มิได้อ้างบทมาตราดังกล่าว ซึ่งโจทก์ถือว่าเป็นความผิดและขอให้ ลงโทษจำเลยมาในคำขอท้ายฟ้อง คงอ้างเฉพาะมาตรา 289,80เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยเฉพาะแต่ในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ มิได้ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ด้วยจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสี่
ก่อนที่ผู้เสียหายทั้งสองจะไปยืนขวางถนน ขณะจำเลยขับรถย้อนกลับมาผู้เสียหายที่ 1 ได้ออกไปยืนขวางถนนด้านตรงกันข้ามเพื่อไม่ให้จำเลยขับรถหลบหนีไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่จำเลยก็ขับรถหลบหนีผู้เสียหายที่ 1 ไป ไม่ได้ขับพุ่งเข้าชน เมื่อจ่าสิบตำรวจ ว. ขับรถจักรยานยนต์แซงไปจอดขวางถนน จำเลยก็เลี้ยวรถกลับไม่ได้ขับรถฝ่าไป หลังจากผ่านผู้เสียหายทั้งสองไปแล้ว จำเลยก็ยังขับรถหลบหลีกเจ้าพนักงานตำรวจอื่นซึ่งยืนสกัดขัดขวางอยู่อีกหลายคนถึงขนาดขับรถข้ามเกาะกลางถนนเข้าไปในช่องเดินรถสวน แสดงว่า จำเลยเพียงแต่พยายามขับรถหลบหนีไม่ให้ถูกจับกุม หากจำเลยจะกระทำโดยวิธีขับรถพุ่งเข้าชนผู้ที่ขวางทางอยู่ก็คงจะไม่เว้นแม้กระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจอื่นที่สกัดอยู่ สำหรับบาดแผลที่ข้อมือของผู้เสียหายทั้งสองมีขนาดเล็กเพียง 1 คูณ 2 เซนติเมตร ไม่ระบุลักษณะและโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าเป็นบาดแผลที่เกิดจากของไม่มีคมจึงอาจเกิดจากการถูกกระจกรถจำเลยซึ่งแตกเสียหายบาดในขณะเข้าไปจับจำเลยออกมาจากรถก็เป็นได้พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 80, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4)(8), 157, 160 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 152 และสั่งคืนของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(2), 80, 138 วรรคสอง พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43(4)(8), 157, 160 วรรคสาม พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 152 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และฐานต่อสู้เจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต ฐานขับรถโดยประมาท น่าหวาดเสียวและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ให้ลงโทษตามมาตรา 160 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 1 เดือน ฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถในระหว่างถูกยึดใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 คงจำคุกฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน 33 ปี 4 เดือนฐานขับรถโดยประมาท จำคุก 20 วัน ฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถในระหว่างถูกยึดใบอนุญาต จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 33 ปี 6 เดือน 20 วัน คืนของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(2), 80 และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะที่พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้โจทก์จะบรรยายข้อเท็จจริงไว้ในคำฟ้องข้อ 1 ค.ว่าหลังจากจำเลยขับรถด้วยความประมาทแล้วผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจราจรและได้รับแจ้งเหตุให้สกัดจับจำเลยได้ออกมายืนสกัดอยู่กลางถนนและให้สัญญาณมือให้จำเลยหยุดรถเพื่อจับกุมดำเนินคดีอันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่แต่จำเลยขับรถพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสองโดยเจตนาฆ่า เพื่อขัดขวางการจับกุม ซึ่งเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง ด้วย แต่โจทก์ก็มิได้อ้างบทมาตราดังกล่าวซึ่งโจทก์ถือว่าเป็นความผิดและขอให้ลงโทษจำเลยมาในคำขอท้ายฟ้องคงอ้างเฉพาะมาตรา 289, 80 เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยเฉพาะแต่ในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่มิได้ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ด้วย จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานนี้หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะที่พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานได้ความตามข้อนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนที่ผู้เสียหายทั้งสองจะไปยืนขวางถนนด้านธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาท่าเรือ ขณะจำเลยขับรถย้อนกลับมาจากทางวัดใหม่เจริญผล ผู้เสียหายที่ 1 ได้ออกไปยืนขวางถนนด้านตรงกันข้ามเพื่อไม่ให้จำเลยขับรถหลบหนีไปทางวัดดังกล่าวแล้วครั้งหนึ่ง แต่จำเลยก็ขับรถหลบหลีกผู้เสียหายที่ 1 ไป ไม่ได้ขับพุ่งเข้าชน เมื่อจ่าสิบตำรวจวิฑูรย์ขับรถจักรยานยนต์แซงไปจอดขวางถนนอยู่ที่บริเวณหน้าวัดใหม่เจริญผลจำเลยก็เลี้ยวรถกลับไม่ได้ขับรถฝ่าไปหลังจากผ่านผู้เสียหายทั้งสองไปแล้วจำเลยก็ยังขับรถหลบหลีกเจ้าพนักงานตำรวจอื่นซึ่งยืนสกัดขัดขวางอยู่ที่บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด สาขาท่าเรืออีกหลายคนถึงขนาดขับรถข้ามเกาะกลางถนนเข้าไปในช่องเดินรถสวนเห็นได้ว่าจำเลยเพียงแต่พยายามขับรถหลบหนีไม่ให้ถูกจับกุม หากจำเลยจะกระทำโดยวิธีขับรถพุ่งเข้าชนผู้ที่ขวางทางอยู่ จำเลยก็คงจะไม่เว้นแม้กระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจที่สกัดอยู่บริเวณหน้า ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด สาขาท่าเรือ ประกอบกับปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่าถนนบริเวณที่เกิดเหตุมี 2 ช่องเดินรถผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า เอารถจักรยานยนต์จอดไว้ข้างถนน และนายพิษณุ โลภปัญญา พยานโจทก์เบิกความว่าผู้เสียหายทั้งสองยืนอยู่ท้ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 จึงมีพื้นที่เหลือพอที่จำเลยจะหลบหนีไปได้ ทั้งนายพิษณุก็เบิกความว่ารถจำเลยไม่ได้ชนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 เพราะจำเลยหักรถหลบ หากจำเลยจะขับรถพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสอง จำเลยก็คงจะไม่หักรถหลบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2นอกจากนี้ผู้เสียหายที่ 2 ยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านด้วยว่า ก่อนจะถึงจุดที่ผู้เสียหายทั้งสองยืนอยู่ประมาณ 20 ถึง 30 เมตร จำเลยได้ชะลอความเร็วรถของจำเลยลงอีกด้วย หากจำเลยจะขับรถชนผู้เสียหายทั้งสองจำเลยก็คงจะไม่ทำเช่นนั้น สำหรับบาดแผลที่ข้อมือของผู้เสียหายทั้งสองมีขนาดเล็กเพียง 1 คูณ 2 เซนติเมตร ไม่ระบุลักษณะ และโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าเป็นบาดแผลที่เกิดจากของไม่มีคม จึงอาจเกิดจากการถูกกระจกรถจำเลยซึ่งคู่ความนำสืบรับกันว่าแตกเสียหายบาดในขณะผู้เสียหายทั้งสองเข้าไปจับจำเลยออกมาจากรถดังที่จำเลยนำสืบก็เป็นได้พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องความผิดฐานดังกล่าวมานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share