คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565-4576/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของตามคำนิยามของคำว่า รัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534กรณีไม่อาจนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน2515 หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541มาใช้บังคับได้แต่ต้องนำพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับเทียบเคียง ซึ่งมีผลให้โจทก์ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดของรัฐวิสาหกิจไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสองสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12

โจทก์ทั้งสิบสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบสองเข้าทำงานเป็นลูกจ้างในสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสองเพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสิบสองเป็นเงิน 352,700 บาท 213,200 บาท114,120 บาท 141,120 บาท 78,240 บาท 144,000 บาท 203,700 บาท129,600 บาท 68,520 บาท 48,240 บาท 152,760 บาท และ 170,640บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยสำหรับโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 ถึงโจทก์ที่ 11อัตราร้อยละสิบห้าต่อปี โจทก์ที่ 2 กับโจทก์ที่ 12 อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินต้นที่โจทก์แต่ละคนฟ้องเรียก นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสิบสองสำนวนให้การว่า จำเลยเป็นหน่วยงานจำเลยซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบกับสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครเป็นกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้นและเป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของตามความหมายของ รัฐวิสาหกิจ แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1) ไม่อยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541แต่ต้องนำพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534มาใช้บังคับโดยเทียบเคียงซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 47ออกตามความในมาตรา 11(1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้พนักงานที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุตามระเบียบไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่มีสิทธิได้รับเงินตอบแทนความชอบในการทำงานเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันหากทำงานติดต่อกันครบห้าปีก่อนเกษียณอายุโจทก์ทั้งสิบสองได้รับเงินบำเหน็จพนักงานซึ่งถือเป็นเงินตอบแทนความชอบในการทำงานไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีก โจทก์ทั้งสิบสองพ้นจากงานเพราะเกษียณอายุเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของจำเลยซึ่งไม่ใช่การเลิกจ้างตามความหมายแห่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานดังกล่าวข้างต้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสิบสอง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครจะมิใช่ส่วนราชการกรุงเทพมหานครและราชการส่วนท้องถิ่น แต่ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2528 ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 97(3) แห่งบทกฎหมายดังกล่าวจัดตั้งสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครขึ้นเพื่อดำเนินการพาณิชย์โดยกรุงเทพมหานครเป็นผู้ควบคุมดูแลการบริหารงานทั้งหมด สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครจึงเป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของตามคำนิยามของคำว่ารัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 กรณีไม่อาจนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสิบสองได้ แต่ต้องนำพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับเทียบเคียงแก่กรณีของโจทก์ทั้งสิบสองซึ่งปรากฏตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 47 ออกใช้บังคับโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(1) และมาตรา 11 วรรคสองของบทกฎหมายดังกล่าวว่าพนักงานที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดของรัฐวิสาหกิจนั้นไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เมื่อโจทก์ทั้งสิบสองพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามข้อกำหนดของจำเลย จึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสิบสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสิบสองอุทธรณ์ในข้อ 6.2 และ 6.3 ว่า สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครมิได้เป็นหน่วยธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของตามคำนิยามคำว่า รัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยอ้างว่าได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยว่า พนักงานของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครทุกคนเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม แต่ปรากฏว่าพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 มาตรา 4(6) ประกอบด้วยพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4(6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2534แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4(6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มาตรา 3ไม่ให้นำพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ไปใช้บังคับแก่ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจตามความหมายของคำว่ารัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แสดงว่าสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครไม่ใช่รัฐวิสาหกิจเพราะมิฉะนั้นแล้วพนักงานของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครทุกคนคงไม่ต้องเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมดังกล่าวแต่อย่างใด และหากสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครเป็นรัฐวิสาหกิจตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางแล้ว ผลกำไรที่ได้จากการประกอบธุรกิจจะต้องนำส่งเพื่อเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานครแต่กรณีของสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าไม่ได้ใช้เงินงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร เงินเดือนของพนักงานก็ใช้เงินจากการประกอบกิจการของสถานธนานุบาลเองการประกอบกิจการพาณิชย์ดังกล่าวมีผลกำไรก็ไม่ต้องนำส่งผลกำไรเพื่อเป็นรายได้ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเหตุผลยืนยันได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกันว่าสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครไม่ใช่รัฐวิสาหกิจหรือไม่ใช่หน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ ในปัญหานี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานธุรกิจที่กรุงเทพมหานครจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการพาณิชย์ถือเป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบสองดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า แม้สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครจะมิใช่ราชการส่วนท้องถิ่น แต่เป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของตามคำนิยามของคำว่า รัฐวิสาหกิจ ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 กรณีไม่อาจนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสิบสองได้ แต่ต้องนำพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับเทียบเคียงแก่กรณีของโจทก์ทั้งสิบสอง ซึ่งมีผลให้โจทก์ทั้งสิบสองที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดของรัฐวิสาหกิจไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้อง ดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสิบสองอุทธรณ์ในข้อ 6.1และ 6.4 ว่า เมื่อสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครมิใช่ราชการส่วนท้องถิ่นไม่เข้าข้อยกเว้นที่มิให้นำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์ทั้งสิบสองออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุซึ่งถือว่าเป็นการเลิกจ้าง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสิบสองตามฟ้องโดยนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ทั้งสิบสองนั้น จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน”

พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบสองสำนวน

Share