แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙/๒๕๔๘
วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลภาษีอากรกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๗ บริษัท ปทุมธานีบริวเวอรี่ จำกัด ได้ยื่นฟ้อง กระทรวงการคลัง ที่ ๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ ๒ กรมสรรพสามิต ที่ ๓ อธิบดีกรมสรรพสามิต ที่ ๔ เจ้าพนักงานสรรพสามิตพื้นที่ปทุมธานี ๑ ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๙๘/๒๕๔๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ทำและขายสุราแช่ชนิดเบียร์ของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ชื่อ “สิงห์” หรือที่เรียกว่า “เบียร์สิงห์” โดยใช้รูปสัญลักษณ์ “สิงห์สีทอง” และมีคำภาษาอังกฤษ “SINGHA” เป็นเครื่องหมายการค้า โดยบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอนุญาตให้ทำและขายสุราให้แก่ผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ต่อมาในวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขออนุญาตผลิตและจำหน่ายสุราแช่ชนิดเบียร์เรียกว่า “เบียร์สิงห์ ๗๐” เนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปีของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และได้มีการเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ พิจารณาอนุญาตตามขั้นตอนของระเบียบ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตผลิตและจำหน่ายสุราแห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ พิจารณาคำขออนุญาตผลิตเบียร์สิงห์ ๗๐ ดังกล่าว อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีผลิต จำหน่ายและใช้ฉลากปิดภาชนะบรรจุเบียร์สิงห์ ๗๐ ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ในฐานะเจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีหนังสือ ที่ กค ๐๖๑๐.๐๓/๑๕๑๒ ลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๖ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ทราบราคาขายที่ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งราคาขาย ณ โรงงานสุราของเบียร์สิงห์ ๗๐ ในราคา ๒๗.๑๘ บาท/ภาชนะ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๖ ผู้ฟ้องคดีได้เริ่มนำเบียร์สิงห์ ๗๐ ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ ในราคา ๒๗.๑๘ บาท/ภาชนะ ครั้นวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้มีหนังสือ ที่ กค ๐๖๑๐.๐๓/๕๒๐๙ ส่งสำเนาประกาศกรมสรรพสามิต ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีให้ผู้ฟ้องคดีทราบโดยกำหนดราคาขาย ณ โรงงานสุราของเบียร์สิงห์ ๗๐ ในราคา ๓๖.๙๕ บาท/ภาชนะ แตกต่างจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้พิจารณาเห็นชอบราคาขาย ณ โรงงานของเบียร์สิงห์ ๗๐ ในราคา ๒๗.๑๘ บาท/ภาชนะ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้มีหนังสือ ที่ กค ๐๖๑๐.๐๓/๕๒๑๔ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ แจ้งว่า ได้คำนวณภาษีสุราแช่ (เบียร์) ตามมูลค่าที่กำหนดใหม่ตามประกาศกรมสรรพสามิต ฉบับลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ แล้ว ผู้ฟ้องคดีมีภาระภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๘๕๐,๒๐๖.๒๓ บาท ให้ผู้ฟ้องคดีไปชำระภาษีในส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คัดค้านประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ฉบับลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ขอให้ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าว และมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีสามารถใช้ราคาขาย ณ โรงงานสุราตามเดิมต่อไป ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยความเห็นชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นว่า การกำหนดมูลค่าสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีสำหรับเบียร์สิงห์ ๗๐ นั้น เป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยการดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ใช้กับเบียร์ทุกตรา ไม่ได้เลือกปฏิบัติกับเบียร์ตราใดตราหนึ่ง ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๕ โดยความเห็นชอบอนุมัติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ประกาศกำหนดให้มูลค่าของเบียร์สิงห์ ๗๐ มีราคาขาย ณ โรงงานสุราที่ใช้เป็นมูลค่าเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีในราคา ๓๖.๙๕ บาท/ภาชนะ อันเป็นราคาเท่ากับเบียร์สิงห์นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กระทำโดยไม่สุจริตเลือกปฏิบัติ ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้รับทราบราคาขาย ณ โรงงานสุราของเบียร์สิงห์ ๗๐ ในราคา ๒๗.๑๘ บาท/ภาชนะ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๖ อันทำให้ผู้ฟ้องคดีเชื่อถือและมั่นใจว่าผู้ฟ้องคดีสามารถผลิตและจำหน่ายเบียร์สิงห์ ๗๐ ได้ในราคาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการผลิตและเริ่มจำหน่ายเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ แต่ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กลับออกประกาศกำหนดราคาขาย ณ โรงงานสุราของเบียร์สิงห์ ๗๐ ในราคา ๓๖.๙๕ บาท/ภาชนะ โดยไม่ปรากฏว่าในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวภาวะตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเป็นช่วงที่ภาวะตลาดไม่ปกติ ที่จะทำให้ต้องนำราคาขายในตลาดปกติมาออกประกาศกำหนดราคาขายดังกล่าว ตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นหลักเกณฑ์ไว้ว่า มูลค่าของสุราที่ประกาศนั้น กำหนดจากราคาขาย ณ โรงงานสุราในตลาดปกติได้ การประกาศมูลค่าสุราดังกล่าวจึงเป็นการประกาศโดยไม่มีหลักเกณฑ์และเหตุผล แต่อย่างใด การประกาศกำหนดราคาขายเบียร์สิงห์ ๗๐ เท่ากับราคาขายเบียร์สิงห์ ในราคา ๓๖.๙๕ บาท ทั้ง ๆ ที่กรรมวิธี วัตถุดิบ ต้นทุนในการผลิตแตกต่างกัน ซึ่งราคาตามตลาดปกติ เบียร์สิงห์ ๗๐ มีราคาไม่เท่ากับเบียร์สิงห์นั้น ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสียภาษีสูงขึ้นและเสียเปรียบผู้ผลิตรายอื่น ๆ ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้า เนื่องจากประกาศกำหนดราคาเบียร์สิงห์ ๗๐ ดังกล่าวมีผลให้เบียร์สิงห์ ๗๐ มีราคาสูงกว่าเบียร์ของผู้ผลิต รายอื่นในระดับคุณภาพเดียวกันหรือใกล้เคียงกันที่มีราคาขาย ๒๗.๒๐ บาท/ภาชนะ ซึ่งเป็นการไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจนี้อันเกิดจากคำสั่งไม่สุจริตของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า และเป็นการใช้ดุลพินิจ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ผู้ฟ้องคดียังคงใช้ราคา ๒๗.๑๘ บาท/ภาชนะ ตลอดมาจนถึงวันฟ้อง เป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับภาระราคาที่แตกต่างกันและต้องชำระภาษีเพิ่มเป็นจำนวนเงิน ๔,๘๕๐,๒๐๖.๒๓ บาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีต้องปฏิบัติตามเพราะการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวมีโทษทางอาญาในการผลิตและจำหน่ายเบียร์สิงห์ ๗๐ ดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีคาดหมายว่าจะสามารถทำยอดจำหน่ายไม่น้อยกว่าเดือนละ ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ได้กำไรประมาณร้อยละ ๗ ของยอดจำหน่ายดังกล่าวคิดเป็นเงินเดือนละ ๓๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่จากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าตามฟ้อง เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถจำหน่ายเบียร์สิงห์ ๗๐ ได้ตามเป้าหมายนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ เป็นต้นมา เนื่องจากผู้ฟ้องคดีใช้ราคาเดิม คือ ๒๗.๑๘ บาท/ภาชนะ เพราะไม่ประสงค์จะให้ผู้บริโภคต้องรับภาระที่เพิ่มขึ้นจากราคาจำหน่ายที่สูงขึ้น ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับภาระภาษีทั้งหมดเองเป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีต้องลดยอดการบรรจุและจำหน่ายเบียร์สิงห์ ๗๐ ลง ผู้ฟ้องคดีขอเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าในส่วนนี้เป็นเงินเดือนละ ๓๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๖ เดือน คิดเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้ายังทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องชำระภาษีทั้งภาษีสุรา ภาษีเทศบาล และภาษีสุขภาพสูงขึ้นเป็นเงิน ๖.๐๑๘๓๒ บาท/ภาชนะ โดยผู้ฟ้องคดีได้ชำระภาษีไปแล้วจำนวน ๑๓๗,๕๙๒,๔๗๗.๔๓ บาท ซึ่งหากไม่มีประกาศดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีต้องชำระภาษีเพียง ๑๐๙,๓๓๑,๐๐๖.๔๐ บาท ผู้ฟ้องคดีจึงได้ชำระภาษีเกินเป็นเงินจำนวน ๒๘,๒๖๑,๔๗๑.๐๓ บาท ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อรวมค่าเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าต้องชดใช้เงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีจนถึงวันฟ้องจึงเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๓๘,๒๖๑,๔๗๑.๐๓ บาท นอกจากนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้ายังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินเดือนละ ๓๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และชำระเงินภาษีคืนแก่ผู้ฟ้องคดีหรืองดเว้นภาษีเป็นเงิน ๖.๐๑๘๓๒ บาท/ภาชนะ ตามยอดที่ผู้ฟ้องคดีผลิตและจำหน่ายนับแต่วันฟ้องต่อไปด้วย สำหรับการพิจารณาอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้านั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้อ้างเหตุที่ผู้ฟ้องคดีไม่ส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตเบียร์สิงห์ ๗๐ ซึ่งถือเป็นความลับในทางธุรกิจ กลั่นแกล้งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนประกาศฉบับลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ โดยให้มีผลย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ออกประกาศ คือ วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๒๓๘,๒๖๑,๔๗๑.๐๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการไม่สามารถผลิตเบียร์สิงห์ ๗๐ ออกจำหน่ายได้ อันเนื่องมาจากประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเดือนละ ๓๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และชดใช้เงินค่าภาษีคืนหรือ งดเว้นเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นตามประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเงิน ๖.๐๑๘๓๒ บาท/ภาชนะ ตามยอดผลิตที่ผลิตและจำหน่ายต่อไปนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะมีการเพิกถอนประกาศ ฉบับลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าให้การว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี และเป็นกฎที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป เนื่องจากขณะออกประกากรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ เพื่อปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเบียร์ใหม่ทั้งระบบนั้น ยังไม่มีเบียร์สิงห์ ๗๐ จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด การออกประกาศของกรมสรรพสามิตดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและมิได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด การพิจารณาอุทธรณ์คัดค้านประกาศสรรพสามิตฉบับพิพาทได้กระทำโดยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้ายื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เนื่องจากเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (ศาลภาษีอากรกลาง) ตามมาตรา ๗ (๒) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยอนุมัติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกประกาศ เรื่องกำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ โดยกำหนดมูลค่าของสุราแช่ ชนิดเบียร์ชื่อสุรา “สิงห์ ๗๐” ราคาขาย ณ โรงงานสุราที่ใช้เป็นมูลค่าเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ๓๖.๙๕ บาท/ภาชนะ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนประกาศฉบับดังกล่าว และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย ค่าขาดประโยชน์ และชดใช้เงินค่าภาษีคืนหรืองดเว้นเงินภาษีที่เพิ่มขึ้น เห็นว่า ประกาศกรมสรรพสามิต ฉบับลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ ดังกล่าว ที่ออกโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยอนุมัติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๔ กำหนดมูลค่าของเบียร์สิงห์ ๗๐ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของผู้ฟ้องคดี ราคาขาย ณ โรงงานสุราที่ใช้เป็นมูลค่าเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ๓๖.๙๕ บาท/ภาชนะ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และ ผู้ฟ้องคดีที่มีผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสุรา อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ออกประกาศกำหนดราคาขายเบียร์สิงห์ ๗๐ ณ โรงงานสุราซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองนี้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กระทำโดยไม่สุจริต เป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย จึงฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนประกาศดังกล่าว พร้อมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี อันเป็นการฟ้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องมาจากการออกคำสั่งทางปกครองดังกล่าวโดยไม่ชอบ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนในคำขอท้ายฟ้องคำขอหนึ่งที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินค่าภาษีคืนหรืองดเว้นเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นตามประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนั้น เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าจะต้องชดใช้เงินค่าภาษีคืนหรืองดเว้นเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวหรือไม่ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองและการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เสียก่อน การชดใช้เงินภาษีหรืองดเว้นเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นตามคำขอของผู้ฟ้องคดีมิได้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีนี้ และคดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะกล่าวอ้างไว้ในคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้มีหนังสือ ที่ กค ๐๖๑๐.๐๓/๕๒๐๙ ส่งสำเนาประกาศกรมสรรพสามิต ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีให้ผู้ฟ้องคดีทราบโดยกำหนดราคาขาย ณ โรงงานสุราของเบียร์สิงห์ ๗๐ ในราคา ๓๖.๙๕ บาท/ภาชนะ และต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้มีหนังสือ ที่ กค ๐๖๑๐.๐๓/๕๒๑๔ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ แจ้งว่า ได้คำนวณภาษีสุราแช่ (เบียร์) ตามมูลค่าที่กำหนดใหม่ตามประกาศกรมสรรพสามิต ฉบับลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ แล้ว ผู้ฟ้องคดีมีภาระภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๘๕๐,๒๐๖.๒๓ บาท จึงให้ผู้ฟ้องคดีไปชำระภาษีในส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว อันเป็นการกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ใช้สิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าภาษีอากรจากผู้ฟ้องคดีหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้ออกประกาศกำหนดราคาขาย ณ โรงงานสุราของเบียร์สิงห์ ๗๐ ที่ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งราคาขายต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไว้ในราคา ๒๗.๑๘ บาท/ภาชนะ เป็น ๓๖.๙๕ บาท/ภาชนะ ก็ตาม แต่การใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าว ก็มิใช่เป็นประเด็นโดยตรงที่ผู้ฟ้องคดีได้นำมาฟ้องคดีนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการพิพาทกันระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ กับผู้ฟ้องคดีอันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร คดีนี้จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรหรือคดีพิพาทที่เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๒) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้ากล่าวอ้างแต่อย่างใด อีกทั้งก็มิใช่เป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร หรือคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร หรือเป็นคดีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากรตามมาตรา ๗ (๑) (๓) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ด้วย จึงมิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลคดีที่พิพาทเป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ โดยกำหนดราคาขายเบียร์สิงห์ ๗๐ ของผู้ฟ้องคดีในราคา ๓๖.๙๕ บาท/ภาชนะ สูงกว่าราคาขาย ณ โรงงานสุราที่ผู้ฟ้องคดี ได้แจ้งไว้คือราคา ๒๗.๑๘ บาท/ภาชนะ โดยอ้างว่าเป็นการออกประกาศที่อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๔ บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๘ จัตวาเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฐานในการคำนวณภาษีสุราตามมูลค่า โดยมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคหนึ่ง กำหนดให้สุราที่ทำในราชอาณาจักรต้องเสียภาษีตามราคาขาย ณ โรงงานสุรา รวมกับภาษีสุราที่พึงต้องชำระ และวรรคสองเป็นกรณีที่ไม่มีราคาขาย ณ โรงงานสุรา หรือราคาขายมีหลายราคาก็ให้ถือตามราคาที่อธิบดีประกาศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ส่วนวรรคสามได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีโดยกำหนดราคาขาย ณ โรงงานสุราในตลาดปกติ จึงเห็นได้ว่าประกาศกรมสรรพสามิตที่พิพาทเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับฐานภาษีสุรา ซึ่งอธิบดีกรมสรรพสามิตโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจกำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อเป็นฐานในการคำนวณภาษีให้แตกต่างไปจากราคาขาย ณ โรงงานสุราที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีแจ้งไว้ได้ จึงถือได้ว่าเป็นลักษณะของการประเมินภาษีรูปแบบหนึ่งที่มิใช่การประเมินภาษีโดยทั่วไป เนื่องจากพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ไม่มีระบบการประเมินโดยเจ้าพนักงานประเมิน ประกาศกรมสรรพสามิตที่พิพาทได้ออกมามุ่งหมายให้ใช้บังคับสำหรับสุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผู้ฟ้องคดีทำขึ้นโดยเฉพาะ มิได้มีผลบังคับเป็นการทั่วไปแก่ ผู้ได้รับใบอนุญาตทำสุราแช่ชนิดเดียวกับรายอื่น ๆ จึงไม่ถือว่าเป็นกฎแต่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และเป็นคำสั่งทางปกครองที่ออกมาเพื่อกำหนดฐานภาษี อันเป็นผลสืบเนื่องจากการวินิจฉัยของเจ้าพนักงานซึ่งเห็นว่าราคาขาย ณ โรงงานสุราที่ผู้ฟ้องคดีแจ้งไว้เป็นราคาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีเหตุอันสมควร จึงได้ทำการประเมินราคาเพิ่มขึ้นโดยออกเป็นประกาศกรมสรรพสามิตดังกล่าว เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นประกาศหรือคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายและประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาล ก็ย่อมถือว่าเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ส่วนการขอให้ชดใช้เงินค่าภาษีคืนหรืองดเว้นภาษีส่วนที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นเนื่องจากการออกประกาศดังกล่าว ก็เป็นประเด็นที่พิพาทเกี่ยวกับการขอคืนภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ สำหรับประเด็นเรื่องการขอให้ชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ที่ไม่สามารถผลิตเบียร์สิงห์ ๗๐ ออกจำหน่ายได้นั้น แม้ว่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิด แต่ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจรัฐในการจัดเก็บภาษีอากรและเมื่อพิจารณาถึงมูลคดีโดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่าประเด็นหลักในคดีนี้ คือการขอให้เพิกถอนประกาศกรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นเรื่องการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ส่วนการขอให้คืนภาษีและชดใช้ค่าเสียหายถือเป็นประเด็นรอง ซึ่งจะต้องวินิจฉัยในประเด็นหลักก่อนว่าประกาศกรมสรรพสามิตที่พิพาทออกมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อประเด็นหลักอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ประเด็นรองย่อมอยู่ในอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรด้วย และมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดว่าคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง เมื่อคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ แล้ว ก็ย่อมไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องสรุปได้ว่า บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้ทำสัญญาผูกพันกับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเพื่อทำและจำหน่ายสุราแช่ ชนิดเบียร์ ต่อมาบริษัทบุญรอดฯ โอนสิทธิตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีได้ทำการผลิตและจำหน่ายเบียร์สิงห์ ๗๐ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๕ และอนุญาตให้กำหนดราคาขาย ณ โรงงานสุราในราคา ๒๗.๑๘ บาท/ภาชนะ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ตามที่ผู้ฟ้องคดีแจ้งไว้ด้วย ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่องกำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ฉบับลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ โดยกำหนดราคาขายเบียร์ ณ โรงงานสุราของผู้ฟ้องคดีใหม่ จากเดิม ๒๗.๑๘ บาท/ภาชนะ เป็น ๓๖.๙๕ บาท/ภาชนะ ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คัดค้านขอให้ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่ยกเลิก ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องชำระภาษีเพิ่มเติมและเสียภาษีสูงขึ้นจากเดิม ทั้งได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศกรมสรรพสามิตดังกล่าว และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันคืนเงินภาษีส่วนที่ผู้ฟ้องคดีต้องเสียเพิ่มขึ้นและชดใช้ค่าเสียหายด้วย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าให้การว่า ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี เนื่องจากขณะออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักร เพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ เพื่อปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเบียร์ใหม่ทั้งระบบนั้น ยังไม่มีเบียร์สิงห์ ๗๐ จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด การออกประกาศของกรมสรรพสามิตดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและมิได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด การพิจารณาอุทธรณ์คัดค้านประกาศสรรพสามิตฉบับพิพาทได้กระทำโดยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องอำนาจศาลภาษีอากรไว้ ดังนี้
มาตรา ๗ “ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งในเรื่องต่อไปนี้
(๑) คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงาน หรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร
…
(๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนภาษีอากร
…”
คดีนี้มูลคดีพิพาทสืบเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ โดยกำหนดราคาขายเบียร์สิงห์ ๗๐ ของผู้ฟ้องคดีในราคา ๓๖.๙๕ บาท/ภาชนะ สูงกว่าราคาขาย ณ โรงงานสุราที่ผู้ฟ้องคดีได้แจ้งและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ทราบกำหนดราคาไว้แล้วคือราคา ๒๗.๑๘ บาท/ภาชนะ โดยอ้างว่าการออกประกาศที่อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๔ บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๘ จัตวา เป็นเรื่องฐานในการคำนวณภาษีสุรา ตามมูลค่า โดยมาตรา ๘ จัตวา (๑) วรรคหนึ่ง กำหนดให้สุราที่ทำในราชอาณาจักรต้องเสียภาษีตามราคาขาย ณ โรงงานสุรา รวมกับภาษีสุราที่พึงต้องชำระ และวรรคสองเป็นกรณีที่ไม่มีราคาขาย ณ โรงงานสุรา หรือราคาขายมีหลายราคาก็ให้ถือตามราคาที่อธิบดีประกาศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ส่วนวรรคสามได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีโดยกำหนดราคาขาย ณ โรงงานสุราในตลาดปกติ จึงเห็นได้ว่าประกาศกรมสรรพสามิตที่พิพาทเกี่ยวข้องโดยตรงกับฐานภาษีสุรา ซึ่งอธิบดีกรมสรรพสามิตโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจกำหนดมูลค่าของสุราที่ทำในราชอาณาจักรเพื่อเป็นฐานในการคำนวณภาษีให้แตกต่างไปจากราคาขาย ณ โรงงานสุราที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีแจ้งไว้ได้ แม้ประกาศหรือคำสั่งพิพาทจะเป็นการออกโดยใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็ออกมาเพื่อกำหนดฐานภาษี อันเป็นผลสืบเนื่องจากการวินิจฉัยของเจ้าพนักงานซึ่งเห็นว่าราคาขาย ณ โรงงานสุราที่ผู้ฟ้องคดีแจ้งไว้เป็นราคาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่มีเหตุอันสมควร จึงได้ทำการประเมินราคาเพิ่มขึ้นโดยออกเป็นประกาศกรมสรรพสามิตดังกล่าว ถือได้ว่าการประเมินมูลค่าสุราเพื่อกำหนดราคาขาย ณ โรงงานสุราเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินภาษีรูปแบบหนึ่ง เมื่อผู้ฟ้องคดี เห็นว่าเป็นประกาศหรือคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายและประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาล ย่อมเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ยิ่งกว่านั้นการที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ชดใช้เงินค่าภาษีคืนหรืองดเว้นภาษีส่วนที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นเนื่องจากการออกประกาศดังกล่าว ก็เป็นประเด็นที่พิพาทเกี่ยวกับการขอคืนภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ทั้งประเด็นการขอให้ชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์นั้นก็เป็นมูลความที่เกี่ยวเนื่องกัน ย่อมอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางเช่นเดียวกัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง บริษัท ปทุมธานีบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ฟ้องคดี กระทรวงการคลัง ที่ ๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ ๒ กรมสรรพสามิต ที่ ๓ อธิบดีกรมสรรพสามิต ที่ ๔ เจ้าพนักงานสรรพสามิตพื้นที่ปทุมธานี ๑ ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
วัชรินทร์ คัด/ทาน
??
??
??
??