แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘/๒๕๔๘
วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็น มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ ยื่นฟ้องกรมศิลปากร ที่ ๑ นายนิคม มูสิกะคามะ ที่ ๒ และนายอาวุธ เงินชูกลิ่น ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ธ.๓๕๒๒/๒๕๔๕ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเพ็ญคอน จำกัด และบริษัทไร้ท์แมน จำกัด ในนามกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน ก่อสร้างอาคารศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรมวัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา สัญญาว่าจ้างเลขที่ ๓๒/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๒ วงเงินค่าจ้าง ๑๓๓,๗๔๙,๘๑๘.๑๘ บาท โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างดังกล่าวของกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน ซึ่งบริษัทเพ็ญคอน จำกัด ผู้ยื่นคำขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันได้ตกลงในคำขอว่าหากโจทก์ถูกเรียกเก็บเงินตามหนังสือค้ำประกันไปจำนวนเท่าใด บริษัทเพ็ญคอน จำกัด จะนำเงินตามจำนวนที่โจทก์ได้ชำระไปพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๖ ต่อปี หรืออัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้โจทก์สามารถเรียกเก็บได้นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินไปมาชำระให้แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้คืนครบถ้วน ต่อมา กิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไรท์แมนได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินตามสัญญาจ้างเลขที่ ๓๒/๒๕๔๒ จำนวน ๑๓๓,๗๔๙,๘๑๘.๑๘ บาท รวมทั้งค่าปรับ ราคาค่างานที่จะพึงเกิดขึ้นให้แก่โจทก์ เพื่อประกันการชำระหนี้ของบริษัทเพ็ญคอน จำกัด ที่มีแก่โจทก์อยู่แล้วและหนี้ในอนาคต โดยได้บอกกล่าวการโอนให้จำเลยที่ ๑ ทราบ และจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมสรรพากรว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ขัดข้องในการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว แต่นับแต่จำเลยที่ ๑ ได้รับการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินตามสัญญาจ้างฉบับดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ไม่เคยส่งเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและพบว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ กับบริษัทเพ็ญคอน จำกัด และบริษัทไร้ท์แมน จำกัด ในนามกิจการร่วมค้าเพ็ญคอนไร้ท์แมน ได้สมคบกันโดยทุจริตจัดทำสัญญาจ้างฉบับใหม่ขึ้นในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๒ โดยใช้เลขที่สัญญาเดิมคือ สัญญาเลขที่ ๓๒/๒๕๔๒ ซึ่งมีสาระสำคัญของข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในสัญญาเช่นเดียวกับสัญญาเลขที่ ๓๒/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๒ และเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๓ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรกับบริษัทเพ็ญคอน จำกัด และบริษัทไร้ท์แมน จำกัด ในนามกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน ยังได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเลขที่ ๓๒/๒๕๔๒ ฉบับลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ให้จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่กิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน เป็นเงิน ๒๐,๐๖๒,๔๗๒.๗๓ บาท โดยมิได้บอกกล่าวหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์แต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างดังกล่าว ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการจ่ายเงินดังกล่าวให้กิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระหนี้ต่างๆ ที่บริษัทเพ็ญคอน จำกัด ค้างชำระหนี้ต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์เห็นว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและผิดระเบียบปฏิบัติของทางราชการ รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างจึงได้ติดตามทวงถามให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินให้แก่โจทก์แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย จึงฟ้องคดีต่อศาลขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน ๒๐,๐๖๒,๔๗๒.๗๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๓ ถึงวันฟ้อง รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน ๒๓,๐๖๓.๕๙๘.๗๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน ๒๐,๐๖๒,๔๗๒.๗๓ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ กับบริษัทเพ็ญคอน จำกัด และบริษัทไร้ท์แมน จำกัด มิได้สมคบกันโดยทุจริตจัดทำสัญญาจ้าง ฉบับลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ขึ้นใหม่ เพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นตามข้ออ้างของโจทก์ แต่การแก้ไขดังกล่าวเป็นไปเพราะสัญญาจ้างก่อสร้างฉบับลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๒มีข้อความในสาระสำคัญคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงและเจตนาของคู่สัญญา และสัญญาฉบับลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๒ ก็ยังคงมีผลผูกพันคู่สัญญาต่อไปอยู่ตามเดิม เว้นแต่ข้อความเฉพาะในส่วนที่ขัดแย้งกับข้อความที่คู่สัญญาตกลงกันให้ถือปฏิบัติตามสัญญา ฉบับลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เท่านั้น นอกจากนี้ เงินล่วงหน้าที่จำเลยที่ ๑ จ่ายให้แก่บริษัทเพ็ญคอน จำกัด และบริษัทไร้ท์แมน จำกัด ตามคำฟ้องของโจทก์มิใช่เป็นเงินค่าจ้างทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งของค่าจ้างงวดหนึ่งงวดใดตามความหมายในสัญญาจ้างและในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง เพราะมิใช่เป็นเงินที่จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารแต่เป็นเงินอีกประเภทหนึ่งซึ่งจำเลยที่ ๑ ตกลงให้แก่บริษัทเพ็ญคอน จำกัด และบริษัทไร้ท์แมน จำกัด ผู้รับจ้าง ยืมหรือเบิกไปใช้ก่อนตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ทำให้ในการจ่ายเงินค่าจ้างตามงวดในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารซึ่งมีทั้งหมด ๔๔ งวด ผู้รับจ้างต้องยอมให้จำเลยที่ ๑ หักเงินค่าจ้างเพื่อชำระหนี้เงินยืมที่เบิกไปเป็นเงินงวดละ ๑,๐๐๓,๑๒๓.๖๔ บาท เสียก่อน หลังจากหักชำระแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงจะจ่ายเงินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง เมื่อเงินล่วงหน้าจำนวน ๒๐,๐๖๒,๔๗๒.๗๓ บาท มิใช่เป็นเงินค่าจ้างหรือส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
ต่อมา จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องว่า คดีนี้มิใช่เป็นคดีแพ่งสามัญ แต่เป็นคดีปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา เนื่องจากสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามฟ้องเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงาระหว่างกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมนกับจำเลยที่ ๑ การที่จะวินิจฉัยว่า จำเลยต้องชำระเงินแก่โจทก์หรือไม่ต้องพิจารณาจากสัญญาจ้างซึ่งเป็นสัญญาประธานว่ากิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน ได้ส่งมอบงานก่อสร้างให้จำเลยถูกต้องครบถ้วนเรียบร้อยตามสัญญาจ้างหรือไม่ สัญญาประธานดังกล่าวคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งคือ จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างอาคารเพื่อให้เป็นสิ่งสาธารณูปโภคและเพื่อให้จัดทำเป็นบริการสาธารณะแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนเช่าพื้นที่จัดกิจกรรม จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญานี้ และสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ขอให้มีคำสั่งโอนคดีไปศาลปกครองหรือจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์ยื่นคำชี้แจงว่า มูลคดีนี้เป็นคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคดีแพ่งสามัญทั่วไป ไม่ใช่ข้อพิพาทที่เกิดจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองหรือเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองแต่อย่างใด นอกจากนั้น สัญญาว่าจ้างระหว่างจำเลยที่ ๑ กับกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน ไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ จำเลยที่ ๑ กับกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมนจะมีข้อโต้แย้งหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาอย่างไรหรือไม่ ก็ไม่ผูกพันโจทก์ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งไม่ใช่ศาลปกครอง
ศาลแพ่งเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้างระหว่างจำเลยที่ ๑ กับกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน โดยอาศัยสิทธิที่โจทก์ได้รับโอนมาจากกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน ดังนั้นการที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น จะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์วิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา ฉบับลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นสัญญาประธานยังคงมีผลผูกพันอยู่หรือไม่ และจำเลยที่ ๑ ได้จ่ายค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่กิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมนไปแล้ว หรือไม่ เพียงใด เมื่อพิเคราะห์ถึงข้อสาระสำคัญของสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสรุปได้ว่า ผู้รับจ้างจะต้องก่อสร้างอาคารนิทรรศการทางวัฒนธรรม อาคารนิทรรศการทางธรรมชาติในทะเล อาคารนิทรรศการทางทรัพยากรธรณี อาคารนิทรรศการทางธรรมชาติบนพื้นดิน อาคารนิทรรศการหมุนเวียน นอกจากนั้นผู้รับจ้างยังต้องสรุปเนื้อหาวิชาการและติดตั้งงานโครงสร้างลอยตัวของนิทรรศการต่างๆ ดังกล่าว ต้องทำหุ่นจำลอง เช่น จำลองถ้ำ จำลองโกงกาง จำลองเขาตะปู ทำทางเดินชมทิวทัศน์ป่าโกงกาง เป็นที่เห็นได้ว่าอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้แก่ผู้เข้าชม และเมื่อพิจารณาประกอบกับอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๓๘ มาตรา ๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓ อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะทำสัญญาแล้ว ปรากฏว่า จำเลยมีอำนาจหน้าที่จัดการศึกษาในด้านศิลปวัฒนธรรมด้วย จึงเป็นที่เห็นได้ว่า สัญญาจ้างสร้างอาคารศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา ดังกล่าวเป็นสัญญาว่าจ้างให้ปลูกสร้างสถานศึกษาประเภทหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด ๕ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา ๘๑ บัญญัติว่า “รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม …” นอกจากนั้น หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา ๔๓ ยังบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย … การจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ …” การศึกษาจึงเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง สัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ศึกษาวิจัย ศิลปกรรม วัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา ระหว่างกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ เป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งในกรณีนี้คือศาลปกครองกลาง สำหรับกรณีของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ แม้โจทก์บรรยายฟ้องสภาพแห่งข้อหาว่าเป็นเรื่องละเมิด แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ซึ่งเป็นอธิบดีของจำเลยที่ ๑ ใช้อำนาจยกเลิกสัญญาว่าจ้างเดิมแล้วทำสัญญาว่าจ้างขึ้นใหม่แก้ไขสัญญาฉบับใหม่ และจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่กิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน เพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ ไม่ให้โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินแก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ ๑ รับโอนมาได้ การละเมิดของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จึงมิใช่การละเมิดโดยกายภาพ หากแต่เป็นกรณีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) และคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดของจำเลยที่ ๑ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลางด้วย
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสามไม่ได้จ่ายเงินตามสิทธิเรียกร้องที่กิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน มีต่อจำเลยที่ ๑ ให้แก่โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง อันเป็นเพียงการปฏิบัติผิดต่อภาระผูกพันที่มีต่อโจทก์ตามนิติสัมพันธ์ทางแพ่งที่มีอยู่ต่อกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๒ ลักษณะ ๑ หมวด ๔ ว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องเท่านั้น มิได้เป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามแนวความเห็นของศาลปกครองสูงสุด (คำร้องที่ ๒๑๕/๒๕๔๔ คำสั่งที่ ๔๔/๒๕๔๕) นอกจากนี้ แม้ว่า “สัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรม และประเพณีแห่งอันดามันจังหวัดพังงา ตามสัญญาเลขที่ ๓๒/๒๕๔๒ ฉบับลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๒” ดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่โดยที่ในการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมีความผูกพันจะต้องชำระหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด นั้น จะต้องพิจารณาจาก “หนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ระหว่างโจทก์กับกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน” ซึ่งมีลักษณะเป็นนิติสัมพันธ์ทางแพ่งตามนัยมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาททางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
คดีนี้ ขณะยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงศึกษาธิการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ ๒๕๓๔ ประกอบพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔ มีอำนาจหน้าที่จัดการศึกษาในด้านศิลปวัฒนธรรมตาม
พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๓๘ มาตรา ๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓ ต่อมาพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๗ (๔) จะบัญญัติให้จำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติเดียวกัน สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา ระหว่างบริษัทเพ็ญคอน จำกัด และบริษัทไร้ท์แมน จำกัด ในนามกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน กับจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ มีวัตถุประสงค์ให้กิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน ก่อสร้างอาคารเพื่อให้ได้งานก่อสร้างที่บรรลุตามวัตถุประสงค์ในการให้บริการการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้ การศึกษาเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่งของรัฐ อาคารศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินบริการสาธารณะในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาของรัฐให้บรรลุผล ดังนั้น สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน ในสัญญาจ้างดังกล่าวตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน และโจทก์ ฟ้องจำเลยทั้งสามเพื่อขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยอ้างว่า จำเลยทั้งสามสมคบกันโดยทุจริตจัดทำสัญญาจ้างก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ ๑ ผู้ว่าจ้าง กับกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน ผู้รับจ้าง ฉบับใหม่ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โจทก์ไม่ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างฉบับเดิม และจำเลยที่ ๑ จงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องโดยไม่ส่งเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า การจัดทำสัญญาจ้างก่อสร้างฉบับใหม่ไม่ได้เป็นไปโดยมีเจตนาทุจริต และเงินที่จำเลยที่ ๑ จ่ายให้แก่กิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมน มิใช่เงินค่าจ้างหรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ดังนั้น แม้มูลคดีจะเป็นคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลย ทั้งเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ข้อพิพาทโดยตรงจากข้อสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา แต่ข้ออ้างของโจทก์ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องมาจากสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ กับกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมนที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ ๑ และกิจการร่วมค้าเพ็ญคอน-ไร้ท์แมนผูกพันเป็นคู่สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระเงินค่าจ้างทำของตามสัญญาให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาอันเกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรม วัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามัน จังหวัดพังงา เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ กรมศิลปากร ที่ ๑ นายนิคม มูสิกะคามะ ที่ ๒ และนายอาวุธ เงินชูกลิ่น ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท พลโท
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๘