คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4004/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

วิธีการนำสืบพยานหลักฐานในคดีล้มละลายนั้น พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 153 (เดิม) ซึ่ง จาก ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 14 แสดงว่า เพื่อให้ศาลพิจารณาให้ได้ความจริง และจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญ ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 88 กฎหมายให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ และการที่จำเลยนำสืบพยานเอกสารซึ่งเป็นสำเนาสมุดเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยโดยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน และมิได้ส่งสำเนาบัญชีระบุพยานให้แก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 ก็เพื่อหักล้างคำพยานโจทก์ที่นำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่กฎหมายสันนิษฐานว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัว และให้เห็นว่าตนมีเงินซึ่งพอชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือไม่ควรตกเป็นบุคคลล้มละลายอันถือได้ว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจที่จะรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจำนวน 20,569,457.75 บาท และตามสัญญานายหน้าตัวแทนและบัญชีเดินสะพัดจำนวน 5,833,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2538 และนับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2539 ตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จ อันเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และจำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่ไม่สามารถกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และจำเลยมิได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่าศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เด็ดขาดแล้ว ตามคดีหมายเลขแดงที่ 681/2546 ของศาลล้มละลายกลาง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเข้าว่าคดีแทนโจทก์ ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และจำเลยไม่โต้แย้งคัดค้านในคำแก้ฎีกาฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2538 จำนวน 20,569,457.75 บาท และตามสัญญานายหน้า ตัวแทนและบัญชีเดินสะพัดฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2536 จำนวน 5,833,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2538 และวันที่ 8 มีนาคม 2539 ตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้ว 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และจำเลยไม่ชำระหนี้ คดีมีปัญหาวินิจฉัยในประการแรกตามคำแก้ฎีกาของจำเลยว่า หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและตามสัญญานายหน้า ตัวแทนและบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ เห็นว่า หนี้ตามฟ้องประการแรกเป็นหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ระบุต้นเงินและดอกเบี้ย ซึ่งจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และยินยอมรับผิดชดใช้หนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.23 ส่วนหนี้ตามฟ้องประการที่สองเป็นหนี้ตามสัญญานายหน้า ตัวแทนและบัญชีเดินสะพัดฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2536 ที่มีรายการสรุปต้นเงินและดอกเบี้ยในหนังสือเรื่องแจ้งการบังคับขายหลักทรัพย์และขอให้ชำระหนี้เอกสารหมาย จ.79 หนี้ทั้งสองรายการจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีแพ่งให้จำเลยรับผิดก่อนตามที่จำเลยกล่าวโต้แย้งในคำแก้ฎีกาแต่อย่างใด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และคำแก้ฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวสมควรมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์อ้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว คือจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้ว 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยให้การและนำสืบปฏิเสธว่าไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้ว 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามหนังสือขอให้ชำระหนี้พร้อมใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย จ.39 จ.80 และ จ.82 ถึง จ. 85 จำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยไม่โต้แย้งข้อเท็จจริงส่วนนี้ในคำแก้ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าพฤติการณ์ของจำเลยต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว นอกจากข้อสันนิษฐานดังกล่าวโจทก์ฎีกาอ้างอีกว่าคดีไม่มีเหตุที่จะฟังว่าจำเลยอาจชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ได้ ควรมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด แต่จำเลยยื่นคำแก้ฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยมีทรัพย์สินพอชำระหนี้ได้ทั้งหมดและมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ซึ่งจำเลยนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าวในประการแรกว่า จำเลยมีบ้านและที่ดินเป็นของตนเองและมีทรัพย์สินอื่นเป็นรถยนต์ 2 คัน รวมมูลค่าประมาณ 50,000,000 บาท ตามคำขอเป็นลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์นั้น พิจารณาคำขอเป็นลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวแล้วเป็นเพียงข้อมูลประวัติส่วนตัวและทรัพย์สินส่วนตัวที่จำเลยแสดงต่อโจทก์เพื่อประกอบการพิจารณาของโจทก์ในการรับจำเลยเป็นลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์ โดยจำเลยเป็นผู้กำหนดมูลค่าของทรัพย์สินเองว่าประมาณ 50,000,000 บาท หาใช่โจทก์เป็นผู้ตรวจสอบและประมาณราคาดังที่จำเลยนำสืบไม่ และที่จำเลยนำสืบอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 587/38 และ 151/8 มีราคารวมกันประมาณ 15,000,000 บาทนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยนำหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวมาแสดงต่อศาล จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีทรัพย์สินตามที่อ้าง ประการที่สองจำเลยนำสืบว่า เป็นกรรมการบริษัทสตาร์แฟชั่น จำกัด มีรายได้จากบริษัทดังกล่าวในตำแหน่งรองประธานกรรมการ เดือนละ 110,000 บาท ได้รับโบนัสประจำปี ปีละประมาณ 3,000,000 บาท ถึง 4,000,000 บาท นั้น นอกจากสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.1 แล้ว จำเลยไม่มีหลักฐานที่แสดงรายได้ของจำเลยมาแสดงในชั้นพิจารณาแต่อย่างใดเลย จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งยังขัดกับพฤติการณ์ที่จำเลยมิได้ขวนขวายชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์โดยสุจริตแต่อย่างใด ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ประการสุดท้ายจำเลยนำสืบว่า ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 จำเลยมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาท่าเรือ เป็นเงินประมาณ 27,000,000 บาท ตามสำเนาสมุดเงินฝากออมทรัพย์เอกสารหมาย ล.4 ซึ่งโจทก์ฎีกาคัดค้านว่าจำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานเอกสารหมาย ล.4 ต่อศาล และมิได้ส่งสำเนาบัญชีระบุพยานให้แก่โจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเอกสารหมาย ล.4 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ในปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ในคำแก้ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าวิธีการนำสืบพยานหลักฐานในคดีล้มละลายนั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 (เดิม) ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) บัญญัติว่า “คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และ 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้” และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 บัญญัติว่า “ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10…” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แสดงว่า เพื่อให้ศาลพิจารณาได้ความจริง และจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 88 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ และการที่จำเลยนำสืบพยานเอกสารหมาย ล.4 ก็เพื่อหักล้างคำพยานโจทก์ที่นำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่กฎหมายสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว และให้เห็นว่าตนมีเงินซึ่งพอชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือไม่ควรตกเป็นบุคคลล้มละลาย อันถือได้ว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจที่จะรับฟังพยานเอกสารหมาย ล.4 ได้ ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนพยานเอกสารหมาย ล.4 จะมีน้ำหนักฟังได้เพียงใดนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จะปรากฏรายการในสำเนาสมุดเงินฝากออมทรัพย์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 ว่ามีรายการฝากเงิน 27,000,000 บาท แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าเป็นการทำรายการก่อนหน้าที่นายรัฐกร อัสดรธีรยุทธ์ พยานจำเลยจะเข้าเบิกความต่อศาลชั้นต้นถึงสมุดเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าวเพียง 3 วัน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นประมาณ 4 เดือน จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าไม่มีเงินฝากเพราะนำเงินไปลงทุนในกิจการ ยิ่งกว่านี้เมื่อตรวจดูคำย่อ HCN ตามรายการในวันที่ที่มีการฝากเงินจำนวนดังกล่าวจากสมุดเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แล้วมีความหมายว่า ฝากด้วยเช็คธนาคาร แต่ก็ไม่ปรากฏความว่าจำเลยได้รับเช็คมาอย่างไร และหลังจากนำนเช็คฝากเข้าบัญชีแล้ว จะยังคงมีเงินฝากอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าวอีกหรือไม่ เพราะเมื่อจำเลยนำสืบสมุดเงินฝากออมทรัพย์มาแสดงต่อศาลแล้วก็ขอรับคืนไปจากศาลทันที คงอ้างส่งแต่สำเนาแทน อีกทั้งจำเลยก็มิได้นำหนังสือรับรองยอดเงินฝากจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาท่าเรือ ที่ระบุว่ายังมีเงินฝากจำนวนเท่าใดมาแสดงต่อศาลว่าจำเลยมีเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ดังกล่าวจริง ทั้งหากจำเลยมีเงินจำนวนดังกล่าวจริงก็น่าจะมีการชำระหนี้ให้แก่โจทก์บ้าง ศาลฎีกาจึงไม่อาจเชื่อว่าจำเลยมีเงินฝากตามจำนวนที่จำเลยนำสืบ ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีทรัพย์สินพอชำระหนี้โจทก์ตามฟ้องได้ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยต้องด้วยเหตุที่กฎหมายสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวและจำเลยไม่สามารถนำสืบหักล้างได้ ประกอบกับจำเลยเป็นหนี้โจทก์มีจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท และเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน จึงเป็นอันได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 แล้ว ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามมาตรา 14 ที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย สำหรับค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

Share