คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4293/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้หมายเรียกและสำเนาคำฟ้องได้ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จึงมีผลเสมือนว่าเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ เมื่อ ร. ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุเกิน 20 ปี และอยู่บ้านเดียวกันได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2546 ตามรายงานเจ้าหน้าที่และใบตอบรับในประเทศ ย่อมถือได้ว่ามีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 โดยชอบแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 อาจยื่นคำให้การได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 พฤษภาคม 2546 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การในวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 จึงเป็นการยื่นคำให้การเกินกำหนด 15 วัน ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเช่นนี้ หาใช่เป็นการส่งโดยวิธีอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 75,218 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 72,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 รับหมายวันนี้ 3 พฤษภาคม 2546 จำเลยที่ 2 ยื่นเกินกำหนด จึงไม่รับคำให้การ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงในสำนวนรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2546 เจ้าหน้าที่ของศาลชั้นต้นได้เสนอรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า หมายเรียกและสำเนาคำฟ้องได้จัดส่งให้จำเลยที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ผลการส่งหมาย คือ ส่งได้ โดยมีชื่อรุ่งทิวา อังควัฒนะพงษ์ อายุ 41 ปี เป็นภรรยารับแทนเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2546 ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 เห็นว่า คดีนี้หมายเรียกและสำเนาคำฟ้องได้ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จึงมีผลเสมือนว่าเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทิว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่า นางรุ่งทิวาภรรยาของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุเกิน 20 ปี และอยู่บ้านเดียวกันได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2546 ตามรายงานเจ้าหน้าที่และใบตอบรับในประเทศ ย่อมถือได้ว่ามีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยชอบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 76 วรรคหนึ่ง และจำเลยที่ 2 อาจยื่นคำให้การได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 พฤษภาคม 2546 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การในวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 จึงเป็นการยื่นคำให้การเกินกำหนด 15 วัน ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเช่นนี้ หาใช่เป็นการส่งโดยวิธีอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share