แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงินฯ มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินถูกคำสั่งให้ปิดการดำเนินกิจการเป็นการถาวรมิได้อยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู ทั้งโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย หากแต่ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินพิพาทให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรง โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดีตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 156,053,479.45 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 136,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 136,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 29 มิถุนายน 2541) ต้องไม่เกิน 20,053,479.45 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันชั้นฎีการับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินจำนวนเงิน 136,000,000 บาท ให้แก่หรือตามคำสั่งของบริษัทมัลติ-โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับเงิน ถึงกำหนดการใช้เงินวันที่ 4 กันยายน 2540 ตามเอกสารหมาย จ.9 ต่อมาบริษัทมัลติ-โฮลดิ้ง คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้สลักหลังตั๋วแลกเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 สลักหลังตั๋วแลกเงินแล้วนำไปขายลดให้แก่โจทก์ เมื่อถึงกำหนดใช้เงินโจทก์ผู้ทรงนำตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปยื่นแก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้ใช้เงิน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ใช้เงิน โจทก์ผู้ทรงจึงใช้สิทธิไล่เบี้ยฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังให้รับผิดต่อโจทก์ โดยขณะนั้นจำเลยที่ 2 ถูกองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ และทางราชการจัดตั้งองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อควบคุมดูแลกิจการของจำเลยที่ 2 ต่อมามีประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้ แต่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เป็นการขัดต่อพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มีบทบัญญัติห้ามฟ้องไว้แต่เฉพาะในมาตรา 26 โดยห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของนางนฤมล เมฆสิงห์วี พยานจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ถูกคำสั่งให้ปิดการดำเนินกิจการเป็นการถาวร แสดงว่าจำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู ทั้งโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย หากแต่ฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินพิพาทซึ่งถึงกำหนดใช้เงินแล้วไม่ใช้ให้ร่วมกันรับผิดใช้เงินตามตั๋วแลกเงินนั้นให้แก่โจทก์ผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 941 และมาตรา 959 โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฟ้องคดีตามมาตรา 26 ดังกล่าว อีกทั้งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 ไม่มีบทบัญญัติว่า เจ้าหนี้ผู้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการไม่ได้ แต่ในประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 (3) และมาตรา 16 (3) แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ได้ระบุไว้ในข้อ 3 ข้อย่อย 3.1 ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ที่ประสงค์จะขอรับชำระหนี้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ และในข้อ 8 ข้อย่อย 8.3 ระบุว่าคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจะกันเงินตามสัดส่วนแห่งหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ แสดงว่าตามประกาศฉบับนี้ก็หาได้กำหนดให้เจ้าหนี้ทุกคนของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือดำเนินงานได้ ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ได้เพียงถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 หรือไม่ ซึ่งฎีกาในข้อนี้เป็นข้อที่จำเลยที่ 2 มิได้ให้การไว้ แต่เนื่องจากฎีกาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 จึงฎีกาปัญหาข้อนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า มาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติว่า “นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามมาตรา 30 ได้ก่อขึ้น มิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่ขอรับชำระได้” เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่เจ้าหนี้ทุกรายของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 5 ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับแก่บรรดาเจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเท่านั้น แต่หามีผลบังคับถึงโจทก์ผู้ทรงตั๋วแลกเงินที่ใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้เงินตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ตั๋วแลกเงินพึงใช้เงินในวันถึงกำหนดซึ่งเป็นวันผิดนัดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์จนเสร็จสิ้น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 941, 959 และมาตรา 968 (2) โจทก์จึงหาใช่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวไม่ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจกล่าวอ้างบทบัญญัติมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวเพื่อชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ถึงเพียงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน