คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3287/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาให้ลงโทษปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าปรับภายใน 30 วัน แต่เนื่องจากค่าปรับมีจำนวนสูงมากกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ จึงให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับไปพลางก่อน ดังนี้ เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นใช้มาตรการกักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนเพื่อให้จำเลยนำเงินมาชำระค่าปรับ มิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับเสียทีเดียว เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้กักขังจำเลยจนครบกำหนด30 วันแล้ว จำเลยก็ยังไม่ชำระค่าปรับเช่นนี้แสดงว่าจำเลยฝ่าฝืนไม่ชำระค่าปรับ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อใช้ค่าปรับได้ไม่เป็นการผิดเจตนารมย์ ของ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2512 และพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 โดยให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 43,008,673.40 บาทไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30หากกักขังแทนให้กักขังมีกำหนด 2 ปี เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ในวันเดียวกันนั้นก็มีคำสั่งออกหมายกักขังจำเลยที่ 2แทนค่าปรับไปพลางก่อน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 มาชำระค่าปรับและออกหมายปล่อยจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 เนื่องจากศาล มีคำสั่งให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับไปพลางก่อนโดยให้หักวันต้องขังมาแล้วให้ 2 วัน จำเลยที่ 2 ถูกกักขังอีก 30 วันรวมเป็น 32 วัน ถือได้ว่า ศาลได้บังคับคดีจำเลยที่ 2 โดยวิธีกักขังแทนค่าปรับ จะนำวิธียึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับอีกไม่ได้เมื่อจำเลยที่ 2 ยังไม่ชำระค่าปรับก็ไม่ควรสั่งปล่อยตัวจำเลยที่ 2ขอให้ศาลมีคำสั่งกักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับและสั่งเพิกถอนการยึดทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การที่จำเลยที่ 2 ต้องโทษปรับตามคำพิพากษาศาลฎีกา และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 นำเงินมาชำระค่าปรับภายใน 30 วันโดยให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับไปพลางก่อนต่อมาภายหลังศาลชั้นต้นจะปล่อยตัวจำเลยที่ 2 แล้วสั่งให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2ใช้ค่าปรับไม่ได้นั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 28 บัญญัติว่า”ผู้ใดต้องโทษปรับผู้นั้นจะต้องชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาล” และมาตรา 29 บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษาผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้” ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 28 ดังกล่าวนั้นมีเจตนารมย์ให้ผู้ต้องโทษปรับต้องชำระค่าปรับด้วยเงินตามจำนวนมีกำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาลส่วนบทบัญญัติของมาตรา 29 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดวิธีการเพื่อบังคับผู้ต้องโทษปรับที่ไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยกำหนดไว้ 2 วิธีคือ ยึดทรัพย์ของผู้นั้นใช้ค่าปรับ หรือกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับ โดยให้ศาลพิจารณาเลือกใช้บังคับเพียงวิธีใดวิธีหนึ่งตามควรแก่รูปคดีเมื่อไม่มีทางที่จะได้เงินมาใช้ค่าปรับก็สมควรใช้วิธีกักขังแทนค่าปรับต่อไปในการดำเนินการดังกล่าวถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับศาลจะสั่งเรียกประกัน หรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ การสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนนั้นเป็นมาตราการอย่างหนึ่งของศาลที่จะสั่งให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องโทษปรับนั้นได้เพื่อมิให้ผู้นั้นหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับดังกล่าว สำหรับกรณีจำเลยที่ 2 นั้นต้องคำพิพากษาศาลฎีกาให้ลงโทษปรับจำนวน 43,008,673.40 บาท ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังแล้วได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน แต่เนื่องจากค่าปรับมีจำนวนสูงมากกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 2 จะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับจึงให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับไปพลางก่อนดังนี้ เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นใช้มาตรการกักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับไปพลางก่อนเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำเงินมาชำระค่าปรับตามที่ได้มีคำสั่งไว้ในวันอ่านคำพิพากษาฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังนั้นเอง มิใช่เป็นกรณีศาลชั้นต้นให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับเสียทีเดียวไม่การดำเนินการดังกล่าวเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี-เป็นกรณีไปโดยไม่จำต้องสอบถามหรือเรียกประกันจากจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้กักขังจำเลยที่ 2 จนครบกำหนด 30 วัน ตามมาตรา 29 แล้วจำเลยที่ 2 ก็ยังไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลฎีกาเช่นนี้แสดงว่าจำเลยที่ 2 ฝ่าฝืนไม่ชำระค่าปรับตามที่มาตรา 29 กำหนดไว้ศาลชั้นต้นจึงย่อมมีอำนาจสั่งให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2เพื่อใช้ค่าปรับได้ ไม่เป็นการผิดเจตนารมย์ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share