คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4785/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า “ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2529นายกเทศมนตรีตำบลนาสาร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยดัดแปลงต่อเติมอาคาร ทั้งหมด แล้วให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยได้บังอาจฝ่าฝืน” ซึ่งหมายความว่า วันที่ 2 กันยายน 2529 เป็นวันที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ ดัดแปลงต่อเติมนั้น และเป็นวันที่จำเลยได้ทราบคำสั่งแล้ว อีกด้วย จึงมิใช่ฟ้องที่ไม่ได้แสดงว่าจำเลยทราบคำสั่งวันใด และฝ่าฝืนคำสั่งในวันใดดังที่จำเลยฎีกา ฟ้องของโจทก์ จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) บทบัญญัติมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มิได้กำหนดว่า คำสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นจะต้องเป็นไปตามแบบที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เมื่อคำสั่งของ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีใจความว่า จำเลยได้ต่อเติมอาคาร ด้านหลังโดยไม่มีใบอนุญาต อันเป็นการกระทำความผิดที่มีโทษ ตามกฎหมาย และให้รื้อถอนอาคารภายในระยะเวลาที่กำหนด มีลักษณะเป็นคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ถึงแม้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมิได้ใช้แบบตามที่กำหนดไว้ ท้ายกฎกระทรวงก็ไม่เหตุให้ผู้ฝ่าฝืนไม่มีความผิด แม้คำสั่งให้รื้อถอนอาคาร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะได้กำหนดระยะเวลาให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมน้อยกว่า 30 วัน ตามที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 42 วรรคแรก บัญญัติไว้ก็ตาม ก็เป็นเพียงเหตุให้ไม่ต้องรื้อถอนอาคารก่อนครบกำหนด 30 วันเท่านั้น ดังนั้นการที่จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่รื้อถอน และระยะเวลาที่กฎหมาย ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจกำหนดไว้ล่วงพ้นไปแล้ว จำเลยยังเพิกเฉยเสีย จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง จำเลย ย่อมมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 42, 70, 79, 80 เทศบัญญัติของเทศบาลตำบลนาสาร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2508 ข้อ 2, 4จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การปฏิเสธว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมนั้นไม่ชอบ โดยระยะเวลาที่กำหนดให้รื้อถอนไม่ครบตามที่กฎหมายบัญญัติว่า ทั้งไม่แจ้งบทลงโทษให้ปรากฏรายละเอียด จึงไม่มีผลบังคับ ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคสอง, 70 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือนแต่คำรับของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่าจำเลยดัดแปลงต่อเติมอาคารพิพาทล้ำเข้าไปในทางเดินหลังอาคารพาณิชย์ซึ่งตามกฎหมายได้บังคับให้เป็นที่ว่างหลังอาคารกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2529 นายกเทศมนตรีตำบลนาสาร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่จำเลยดัดแปลงต่อเติมดังกล่าว และให้จำเลยทราบคำสั่งแล้ว จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งโดยเพิกเฉยไม่ยอมรื้อถอนอาคารนั้น ระยะเวลานับตั้งแต่วันที่จำเลยทราบคำสั่งจนถึงวันที่25 ตุลาคม 2529 ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้รับแจ้งความคดีนี้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ พบเห็นการกระทำผิดเกินกว่าสามสิบวันแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ได้แสดงว่าจำเลยทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในวันใด และฝ่าฝืนคำสั่งในวันใด คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า “ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2529 นายกเทศมนตรีตำบลนาสารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยดัดแปลงต่อเติมอาคารทั้งหมด แล้วให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยได้บังอาจฝ่าฝืน” ซึ่งหมายความว่า วันที่ 2 กันยายน 2529 เป็นวันที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมนั้น และเป็นวันที่ได้ให้จำเลยทราบคำสั่งแล้วอีกด้วย จึงมิใช่ฟ้องที่ไม่ได้แสดงว่าจำเลยทราบคำสั่งวันใดและฝ่าฝืนคำสั่งในวันใดดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่มีรายละเอียดครบถ้วนตามแบบที่กำหนดไว้ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528)ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกำหนดระยะเวลาให้รื้อถอนน้อยกว่า 30 วัน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายการที่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวจึงไม่มีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 42 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้รื้อถอนอาคารตามวรรคหนึ่ง ต้องรื้อถอนอาคาร” โดยบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งว่า “ในกรณีที่มีการกระทำตามมาตรา 40 และการกระทำนั้นไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9หรือมาตรา 10 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะขยายระยะเวลาออกไปอีกก็ได้” บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดว่าคำสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นจะต้องเป็นไปตามแบบที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงประกอบกับคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามเอกสารหมาย จ.8มีใจความว่า จำเลยได้ต่อเติมอาคารด้านหลังโดยไม่มีใบอนุญาตอันเป็นการกระทำผิดมีโทษตามกฎหมาย และให้รื้อถอนอาคารภายในระยะเวลาที่กำหนด มีลักษณะเป็นคำสั่งให้รื้อถอนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ถึงแม้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมิได้ใช้แบบตามที่กำหนดไว้ท้ายกฎกระทรวงก็ไม่เป็นเหตุให้ผู้ฝ่าฝืนไม่มีความผิด และถึงแม้เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้กำหนดระยะเวลาให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมน้อยกว่า 30 วันตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ก็เป็นเพียงเหตุให้ไม่ต้องรื้อถอนอาคารก่อนครบกำหนด 30 วันเท่านั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้รื้อถอนอาคาร ทราบคำสั่งแล้วไม่รื้อถอน และระยะเวลาที่กฎหมายให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจกำหนดได้ล่วงพ้นไปแล้วจำเลยยังเพิกเฉยเสีย จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง จำเลยย่อมมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share