คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2722/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่าเป็นหนี้เงินกู้โจทก์จริง แต่จำนวนหนี้ไม่มากเท่ากับที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้เป็นเรื่องที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้เพียงว่าจะต้องรับผิดเพียงใดเท่านั้น การที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์ได้รับเงินต้นคืนบางส่วน จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวเป็นประเด็นมาแต่ศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในหนี้เงินกู้ เป็นการฟ้องให้ชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้เมื่อศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินต้นให้แก่โจทก์ไปแล้วบางส่วน คงเหลือหนี้ต้นเงินอีกบางส่วนศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่ง มิได้ฎีกาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยที่ค้าง 271,246.58 บาท แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 200,000 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ให้บังคับจำนองโดยนำที่ดินจำนองทั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินโจทก์และรับเงินจากโจทก์เพียง 100,000 บาท พร้อมกับให้จดทะเบียนจำนองที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 เป็นประกันการกู้ยืมของจำเลยที่ 1 หลังจากทำสัญญาจำนอง จำเลยที่ 1 ชำระเงินต้น14,200 บาท และดอกเบี้ย 5,000 บาท แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 200,000 บาท เพราะจำเลยที่ 1มิได้เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่4 มีนาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่ให้เกิน 71,246.58 บาท) แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 27835 และ 27836 ตำบลหมื่นไวยอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ได้รับเงินต้นคืนบางส่วนตามเช็ค 4 ฉบับ เป็นเงิน 14,200 บาทแล้วนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้เงินจำนวนเงินต้น 200,000 บาท ดอกเบี้ย 71,246.58 บาทนั้น เมื่อจำเลยให้การว่าเป็นหนี้เงินกู้โจทก์จริง เพียงแต่จำนวนหนี้ไม่มากเท่ากับที่โจทก์ฟ้อง ก็เป็นเรื่องที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้เพียงว่าจะต้องรับผิดเพียงใดเท่านั้น จำเลยมิได้ยกเรื่องอำนาจฟ้องด้วยเหตุตามข้อฎีกาขึ้นว่ากล่าวเป็นประเด็นมาแต่ศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อต่อมาว่าได้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์แล้วปรากฏตามสำเนาเช็ค 4 ฉบับ เอกสารหมาย ล.1ถึง ล.4 ซึ่งโจทก์จะต้องหัดให้จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าแม้เอกสารหมายล.1 ถึง ล.4 เป็นเพียงสำเนาเอกสารต้องห้ามไม่ให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 ก็ตามแต่จำเลยที่ 1 ก็ได้เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้จ่ายเช็คให้โจทก์ไป12 ฉบับ ฉบับละ 4,800 บาท เป็นการชำระดอกเบี้ยฉบับละ1,250 บาท โจทก์เรียกเก็บเงินแล้ว 4 ฉบับ ต้นฉบับเอกสารอยู่ที่ธนาคาร โจทก์เบิกความรับว่า จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คมอบให้โจทก์จำนวน 12 ฉบับหรือไม่ก็จำไม่ได้ แต่ตอนชำระดอกเบี้ยจำเลยได้สั่งจ่ายเป็นเช็ค เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้โจทก์เกินกว่า5 ใบ โจทก์นำเช็คของจำเลยที่ 1 เข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขานครราชสีมา คำเบิกความของโจทก์จึงรับกันกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินต้นจำนวน 14,200 บาท แก่โจทก์แล้ว ส่วนหนี้ที่เหลือจำนวน185,800 บาท คงค้างชำระโจทก์อยู่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในหนี้เงินกู้ ซึ่งเป็นการฟ้องให้ชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินต้นแก่โจทก์ไปแล้วบางส่วน คงเหลือหนี้เงินต้นเพียง 185,800 บาท ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินต้นจำนวน 185,800 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share