แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าการคิดค่าขาดไร้อุปการะเริ่มตั้งแต่เมื่อใด และสิ้นสุดลงเมื่อใด จัดการศพอยู่กี่วัน วันละเท่าใดก็เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม การที่ผู้ตายชวนจำเลยขับขี่รถยนต์ไปกับโจทก์ ไม่มีกฎหมายรับรองว่าผู้ตายมีส่วนร่วมเสี่ยงภัยและต้องเฉลี่ยความรับผิดในเรื่องค่าเสียหายกับจำเลย เมื่อไม่ได้ความว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยจึงไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ตายเฉลี่ยความรับผิดชอบในเรื่องค่าเสียหายกับจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางเจริญใจ บุญคุ้ม มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือโจทก์ที่ 3 ถึงโจทก์ที่ 5 ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์ที่ 1 กับนางเจริญใจ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2529 จำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยขับด้วยความเร็วสูงและไม่สามารถบังคับรถให้แล่นอยู่บนถนนด้วยความปลอดภัย ทำให้ยางรถยนต์เกิดระเบิดขึ้นรถเสียหลักพลิกคว่ำลงข้างถนน เป็นเหตุให้นางเจริญใจซึ่งนั่งโดยสารมาในรถด้วยถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 4และที่ 5 ซึ่งนั่งโดยสารมาในรถเช่นกันได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายโดยต้องขาดไร้อุปการะจากนางเจริญใจ โจทก์ที่ 1 ขอคิดค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 150,000 บาท โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5ขอคิดค่าขาดไร้อุปการะคนละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น350,000 บาท นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำบุญศพนางเจริญใจเป็นเงิน 40,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 4 และที่ 5 เป็นเงินรวม 10,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยให้ใช้เงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าค่าขาดไร้อุปการะมีหลักเกณฑ์วิธีในการคำนวณอย่างไรและค่าใช้จ่ายในการปลงศพได้ทำบุญกี่วันค่าใช้จ่ายวันละเท่าใด เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม นางเจริญใจมีส่วนต้องรับผิดในค่าเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยเนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มชักชวนวานให้จำเลยขับรถ ตลอดจนเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นแก่โจทก์ทั้งห้ารวมเป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยใช้ค่าขาดไร้อุปการะและค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 20,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 20,000 บาทโจทก์ที่ 3เป็นเงิน 40,000 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 41,000 บาทและโจทก์ที่ 5เป็นเงิน 44,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาจะต้องวินิจฉัยข้อแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ โจทก์ฟ้องว่า จากการที่จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้า ทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายคือค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย โจทก์ที่ 1 ขอค่าขาดไร้อุปการะ150,000 บาท โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ขอค่าขาดไร้อุปการะคนละ 50,000 บาทและนอกจากนี้โจทก์ต้องเสียค่าจัดการศพและค่าปลงศพเป็นเงิน 40,000บาท โดยไม่มีรายละเอียดว่าเริ่มคิดตั้งแต่เมื่อใดและจัดการศพกี่วันเสียค่าใช้จ่ายไปวันละเท่าใด เห็นว่า การคิดค่าขาดไร้อุปการะตั้งแต่เมื่อใดและสิ้นสุดลงเมื่อใด และจัดการศพอยู่กี่วัน วันละเท่าใดนั้นโจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้เพราะเป็นรายละเอียด คำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแหล่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยข้อต่อมาที่ว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดไร้อุปการะมีจำนวนเท่าใดนั้น จำเลยฎีกาโต้เถียงว่าควรเฉลี่ยค่าอุปการะกับโจทก์ที่ 1 ที่มีรายได้เป็นรายเดือนด้วยนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 บัญญัติว่า สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตนดังนั้นผู้ตายในฐานะภริยาย่อมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์โจทก์ที่ 1 อายุ 52 ปีผู้ตายมีรายได้จากการค้าขายและยื่นรายการเสียภาษีตามคำเบิกความของนายทรงวุฒิ มณีนิล สมุห์บัญชีอำเภอรัตนบุรีว่า ในปี พ.ศ. 2509 ผู้ตายยื่นรายการเสียภาษี 60,000 บาทตามเอกสารหมาย ล.3 แสดงว่าผู้ตายมีรายได้เป็นเดือน เดือนละ 5,000บาท จะต้องช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในครอบครัว และอาจมีเงินเหลือบ้างหากผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ก็มีโอกาสอุปการะสามีและบุตรได้อีกนาน เพราะผู้ตายอายุเพียง 42 ปี การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 20,000 บาท นั้นนับว่าน้อยมากและเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้ว สำหรับโจทก์ที่ 3 ที่ 4และที่ 5 นั้น ปรากฏว่าอายุยังน้อย โดยเฉพาะโจทก์ที่ 5 อายุเพียง2 ปี จะต้องอุปการะจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะเป็นเวลาเกือบ 20 ปีการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้คนละ 40,000 บาทก็นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากเช่นกัน ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ชอบแล้ว ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าปลงศพที่โจทก์ขอมา 40,000 บาท นั้นได้ความว่าโจทก์ทำศพเพียง 2 วันและในการเก็บศพเพื่อจะทำการฌาปนกิจในอนาคตก็ไม่แน่ว่าจะเสียค่าใช้จ่ายมากดังที่โจทก์อ้าง เมื่อคำนึงถึงสภาพท้องถิ่นประกอบกับฐานะทางสังคมของโจทก์ที่ 1 ซึ่งรับราชการเป็นครูแล้ว เห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์ทั้งห้า จำนวน 30,000 บาท ส่วนค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 นั้น ปรากฏว่าโจทก์ที่ 4 ได้รับบาดเจ็บช้ำบวมบริเวณแขน และโจทก์ที่ 5 มีบาดแผลแตกที่ศีรษะศาลล่างทั้งสองกำหนดให้1,000 บาท และ 4,000 บาท ตามลำดับนั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ผู้ตายชวนจำเลยขับขี่รถยนต์ไปกับโจทก์ที่ 4 และที่ 5 นับว่ามีส่วนร่วมเสี่ยงภัยอยู่ด้วยและต้องเฉลี่ยความรับผิดนั้น เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยไม่มีบทกฎหมายรับรอง เมื่อไม่ได้ความว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยก็ไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ตายเฉลี่ยความรับผิดชอบในเรื่องค่าเสียหายกับจำเลยด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นแก่โจทก์ทั้งห้า จำนวน 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 1