คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์ผิดข้อตกลงในเรื่องการขอใบอนุญาตทำงาน อันเป็นการผิดข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานนั้นมิใช่กรณีหนึ่งกรณีใดตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำเลยก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวและจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม โจทก์เสียหายเท่ากับเงินเดือนสุดท้าย 6 เดือน นอกจากนี้จำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างประจำเดือนกันยายนและตุลาคม 2535 ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 70,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าว ต้องได้รับใบอนุญาตให้เข้าทำงานในประเทศไทยซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งการจ้าง ข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.1เป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ ทั้งศาลแรงงานกลางก็มิได้ยกขึ้นวินิจฉัยในชั้นพิพากษาคดี อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็ไม่เห็นสมควรที่จะยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์ผิดข้อตกลงในเรื่องการขอใบอนุญาตทำงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำเลยก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามอัตราที่กำหนดในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 จำเลยในฐานะนายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ก็ต่อเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในกรณีหนึ่งกรณีใดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในกรณีที่โจทก์ผิดข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานนั้นมิใช่กรณีหนึ่งกรณีใดตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share