แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเช่าที่ดินทำสวนส้ม เป็นการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่น ต้องนำมาตรา 63แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาใช้บังคับ เมื่อยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อประกอบการเกษตรกรรมประเภทอื่น จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 12975 ตำบลหนองสามวัง (คลอง 12 ตก) อำเภอหนองเสือจังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา โดยซื้อมาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 จากนางสาวมาลี มีนมณีปัจจุบันจำเลยและบริวารเข้าทำสวนส้มและอยู่ในที่ดินดังกล่าวของโจทก์ทั้งแปลงโดยมิได้รับความยินยอมหรือทำสัญญาเช่ากับโจทก์ โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารทำสวนส้มในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป จึงบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนสวนส้มพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉยอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหายจากการนำที่ดินออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสวนส้มพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12975 ตำบลหนองสามวัง (คลอง 12 ตก) อำเภอหนองเสือจังหวัดปทุมธานี ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไปหากจำเลยไม่รื้อถอนสวนส้มออกไปจากที่ดิน ให้โจทก์มีสิทธิรื้อถอนออกไปได้โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายแทนโจทก์ทั้งสิ้นให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสวนส้มพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินโจทก์ดังกล่าว
จำเลยให้การว่า ก่อนจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 12975ใส่ชื่อโจทก์ โจทก์รู้เห็นยินยอมอยู่แล้วว่าจำเลยเช่าที่พิพาทจากนางสาวมาลี เจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ให้เช่าเดิมเพื่อทำนามีกำหนดเวลา 15 ปี ซึ่งปัจจุบันยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาการเช่าและให้ถือบังคับกันตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 จำเลยทำประโยชน์ในที่ดินโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้นไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่หรือเรียกค่าเสียหายใด ๆ ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12975 ตำบลหนองสามวัง อำเภอหนองเสือจังหวัดปทุมธานี ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไปและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,500 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินดังกล่าวจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อ 2.1 ว่า จำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าขณะที่จำเลยตกลงเช่าที่พิพาทนั้นมีสภาพเป็นที่นา จำเลยได้เช่าทำนามาก่อนแล้วจึงได้ปรับปรุงดินปลูกต้นส้มในภายหลังโดยได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าเดิม จำเลยจึงเป็นผู้เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น เห็นว่า เมื่อคดีมีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเช่าที่พิพาททำสวนส้ม ซึ่งสอดคล้องกับข้อฎีกาของจำเลยที่ยอมรับว่า ขณะเกิดกรณีพิพาทจำเลยไม่ได้ทำนาในที่พิพาทแต่ได้ทำเป็นสวนส้ม ดังนั้น จึงต้องฟังว่า การที่จำเลยเช่านั้นเป็นการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่น ต้องนำมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 มาใช้บังคับ ซึ่งมีใจความว่า ในกรณีที่มีการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทใดนอกจากการเช่านาเมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดให้การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทนั้นมีการควบคุมก็ให้มีอำนาจกระทำการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เมื่อยังไม่ปรากฏว่ามีพระราชกฤษฎีกาควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่น ดังนั้นจำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวและจำเลยหามีสิทธิทำได้ตามมาตรา 31(3) และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ดังที่ฎีกาไม่ ส่วนฎีกาของจำเลยในข้อ 2.2 ที่ว่า จำเลยได้อาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 โจทก์ผู้รับโอนที่พิพาทต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งผู้ให้เช่าเดิมมีต่อจำเลยจนกว่าสัญญาเช่าจะสิ้นสุด หากการเช่าจะสิ้นสุดก่อนกำหนดเวลาเช่า โจทก์ก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและเงื่อนไขของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 นั้น ในข้อนี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้ฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าจำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 และการที่จำเลยทำสัญญาเช่าที่พิพาทกับนางสาวมาลีมีกำหนด 15 ปีโดยทำสัญญาเช่า 5 ฉบับ ฉบับละ 3 ปี เมื่อไม่ได้จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีผลบังคับได้เพียง 3 ปี การที่จำเลยอยู่ต่อมาถือว่าเป็นการอยู่โดยละเมิด โจทก์ผู้รับโอนที่พิพาทมาจากนางสาวมาลีย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยแม้จำเลยจะฎีกาปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องอำนาจฟ้อง แต่การวินิจฉัยจะต้องอาศัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายการเถียงข้อเท็จจริงซึ่งศาลล่างทั้งสองฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยเช่าที่พิพาทไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ โดยจำเลยคงมีสิทธิอยู่ในที่พิพาทได้เพียง 3 ปี และต้องห้ามฎีกาเพราะจำเลยเช่าที่พิพาทมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท เพื่อสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายนั้น มีผลเป็นอย่างเดียวกับการฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน