คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ พ. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการมีฐานะเป็นผู้แทนของบริษัท ท. ขับรถยนต์ชนกับรถยนต์ของ ญ. ในระหว่างไปทำงานให้บริษัท ท. เป็นเหตุให้ ญ. ถึงแก่ความตายรถยนต์ได้รับความเสียหาย นอกจากจะถูกกล่าวหาว่าทำความผิดอาญาฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว ยังอาจเป็นการทำละเมิดในระหว่างการทำตามหน้าที่ของผู้แทนของบริษัท ท. ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะมีผลทำให้บริษัท ท. ต้องร่วมกับ พ. รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 มาตรา 425 และมาตรา 427 การตกลงชดใช้ค่าเสียหายเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องเดิมระงับสิ้นไป คู่กรณีต้องผูกพันตามที่ตกลงกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และมาตรา 852 ดังนั้น หาก พ. สามารถเจรจาต่อรองให้ ด. ผู้เสียหายยอมลดค่าเสียหายลงได้มากเพียงใดย่อมทำให้บริษัท ท. ได้รับประโยชน์ด้วยเพียงนั้น จึงถือได้ว่าการไปเจรจาตกลงเรื่องค่าเสียหายของ พ. เป็นการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท ท. ดังนั้น การที่ พ. สั่งให้ น. ขับรถยนต์ในวันเกิดเหตุ แม้ น. จะไม่ได้ป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง แต่ น. ก็ได้ทำงานตามคำสั่งของนายจ้างด้วย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พ. และ น. ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายในระหว่างการเดินทางก่อนการเจรจาเรื่อง ค่าเสียหายโดยไม่ปรากฏสาเหตุ ไม่ได้ถูกยิงในระหว่างการเจรจาหรือสืบเนื่องมาจากการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย ทั้งการถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงจนถึงแก่ความตายไม่ใช่สาเหตุที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นได้จากการเดินทาง ด้วยเหตุดังกล่าวแม้ พ. จะเดินทางไปทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างและ น. ได้ทำงานตามคำสั่งของนายจ้างแต่ความตายไม่ใช่ผลโดยตรงจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคำสั่งของนายจ้าง จึงถือไม่ได้ว่า พ. และ น. ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท ท. หรือตามคำสั่งของบริษัท ท. ซึ่งเป็นนายจ้าง น. จึงไม่ได้ประสบอันตรายตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลย ที่ 43/2545 และให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเดือนละ 9,000 บาท เป็นเวลา 8 ปี พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่นายนพดลถึงแก่ความตายจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “การที่นายไพโรจน์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการมีฐานะเป็นผู้แทนของบริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ขับรถยนต์ชนกับรถยนต์ของนางเพ็ญในระหว่างไปทำงานให้บริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด เป็นเหตุให้นางเพ็ญถึงแก่ความตาย รถยนต์ได้รับความเสียหาย นอกจากจะถูกกล่าวหาว่าทำความผิดอาญาฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว ยังอาจเป็นการทำละเมิดในระหว่างการทำตามหน้าที่ของผู้แทนของบริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะมีผลทำให้บริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ต้องร่วมกับนายไพโรจน์รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 มาตรา 425 และมาตรา 427 การตกลงชดใช้ค่าเสียหายเป็นการประนีประนอมยอมความมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องเดิมระงับสิ้นไป คู่กรณีต้องผูกพันตามที่ตกลงกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และ มาตรา 852 ดังนั้น หากนายไพโรจน์สามารถเจรจาต่อรองให้นายดอกบัวผู้เสียหายยอมลดค่าเสียหายลงได้มากเพียงใดย่อมทำให้บริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ได้รับประโยชน์ด้วยเพียงนั้น จึงถือได้ว่าการไปเจรจาตกลงเรื่องค่าเสียหายของนายไพโรจน์เป็นการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ดังนั้น การที่นายไพโรจน์สั่งให้นายนพดลขับรถยนต์ในวันเกิดเหตุแม้นายนพดลจะไม่ได้ป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง แต่นายนพดลก็ได้ทำงานตามคำสั่งของนายจ้างด้วย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายไพโรจน์และนายนพดลถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายในระหว่างการเดินทางก่อนการเจรจาเรื่องค่าเสียหายโดยไม่ปรากฏสาเหตุ ไม่ได้ถูกยิงในระหว่างการเจรจาหรือสืบเนื่องมาจากการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย ทั้งการถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงจนถึงแก่ความตายไม่ใช่เหตุที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นได้จากการเดินทาง ด้วยเหตุดังกล่าวแม้นายไพโรจน์จะเดินทางไปทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างและนายนพดลได้ทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง แต่ความตายไม่ใช่ผลโดยตรงจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง จึงถือไม่ได้ว่านายไพโรจน์และนายนพดลถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด หรือตามคำสั่งของบริษัท พี ที อาร์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้าง นายนพดลจึงไม่ได้ประสบอันตรายตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share