แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่1ที่2มิได้ดำเนินการชดใช้ค่าทดแทนในเวลาอันควรจำเลยที่2เพิ่งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ฯพ.ศ.2516และเพิ่งพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนในปี2531ดังนั้นการที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนโดยพิจารณาในปีพ.ศ.2511เป็นเกณฑ์ย่อมไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา21วรรคหนึ่งตอนท้ายและยังขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2521มาตรา33วรรคสามแต่ต้องพิจารณาจากราคาที่ดินในปี2531 แม้ไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนก็ตามแต่คณะกรรมการย่อมชอบที่จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมเหตุสมผลที่วิญญูชนจะพึงพิจารณาได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 การที่จะพิจารณาว่ามีที่ดินเหลือจากการเวนคืนเพื่อหักค่าทดแทนนั้นย่อมต้องพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ดินทั้งหมดตามโฉนดที่มีอยู่ในขณะมีการเวนคืนไม่ใช่กรณีเกิดขึ้นภายหลังการเวนคืนแม้ภายหลังจะได้แบ่งแยกเป็นแปลงย่อยและโอนไปแล้วก็ยังถือเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของนางสมร คุณะดิลกโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสมรและในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จำเลยที่ 2 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ริบทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอนและแขวงช่องนนทรีเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 จำเลยที่ 3 และที่ 4เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืน เมื่อวันที่11 ตุลาคม 2516 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ฯ พ.ศ. 2516 ที่ดินโฉนดเลขที่ 5370ตำบลช่องนนทรี เป็นของนางสมรที่อยู่ในเขตตามแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติที่ได้สำรวจไว้ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2506 และพ.ศ. 2511 วันที่ 28 สิงหาคม 2529 นางสมรได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5370 ออกเป็น 7 แปลง คือที่ดินตามโฉนดเลขที่208276 ถึงเลขที่ 208281 และโฉนดเลขที่ 5370 เดิม เมื่อวันที่20 ธันวาคม 2532 นางสมรถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย ครั้นวันที่ 14 พฤษภาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งราคาค่าทดแทนและแจ้งการเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ถึงนางสมรว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5370 ถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่ 2 งาน 48 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ฯพ.ศ. 2516 กำหนดราคาค่าทดแทนตารางวาละ 16,895.16 บาทเป็นเงิน 4,190,000 บาท แต่ปรากฏว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นอันเป็นผลจากการเวนคืนตัดถนน ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ให้นำราคาที่สูงขึ้นมาหักออกจากค่าทดแทน เมื่อคิดคำนวณและหักกลบลบกันแล้วเกลื่อนกลืนกัน ไม่ต้องจ่ายค่าทดแทน โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสมรได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ขอค่าทดแทนเพิ่มขึ้น แต่จำเลยที่ 2 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ปัจจุบันราคาประเมินที่รัฐประกาศใช้ใกล้เคียงกับราคาซื้อขายในท้องตลาดที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนอยู่ติดซอยเกงชวน ราคาประเมินตารางวาละ 48,000 บาท ถึง 50,000 บาท ที่ดินส่วนที่เวนคืนอยู่ติดคลองช่องนนทรีจึงมีราคาตารางวาละ 50,000 บาท ถูกเวนคืน248 ตารางวา จึงเป็นเงินค่าทดแทน 12,400,000 บาท และโจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2534จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,240,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 13,640,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 12,400,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการแรกว่า เงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการฯ กำหนดสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 5370 ของนางสมร คุณะดิลก ที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 248 ตารางวา เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่พิเคราะห์แล้วที่ดินโฉนดเลขที่ 5370 ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา (พระโขนง)กรุงเทพมหานคร ของนางสมร คุณะดิลก เนื้อที่ 581 ตารางวาซึ่งถูกเวนคืนโดยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 เนื้อที่ 248 ตารางวา แต่ยังมิได้มีการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่นางสมรเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนจนกระทั่งถึงปี 2531 ซึ่งเป็นปีที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ประกาศใช้บังคับแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้กำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนและมีหนังสือแจ้งให้นางสมรทราบเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2534 อันเป็นเวลาภายหลังที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับแล้ว เห็นว่า แม้ในขณะที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5370 ของนางสมรถูกเวนคืน พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มีผลใช้บังคับอยู่แต่ต่อมาพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกและได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับแทนซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 36 วรรคสอง บัญญัติให้การเวนคืนและการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และต่อมาได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ออกใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งในประกาศฉบับดังกล่าวข้อ 5 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่และวรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย” สำหรับการเวนคืนที่ดินของนางสมรที่ดินโฉนดเลขที่ 5370 ในคดีนี้ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 เพิ่งแจ้งราคาค่าทดแทนที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนให้นางสมรทราบเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2534 และได้มีการฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2535 การกำหนดราคาค่าทดแทนเบื้องต้นจึงยังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มีผลใช้บังคับการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ซึ่งมาตรา 21 บัญญัติว่า”เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้วให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม”ดังนั้น การกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่นางสมรของคณะกรรมการฯ จึงต้องพิจารณากำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ดังกล่าว มิใช่กำหนดค่าทดแทนเป็นการชดเชยความเสียหายที่ผู้ถูกเวนคืนได้รับตามอำเภอใจหรือกำหนดค่าทดแทนตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินแต่เพียงประการเดียว สำหรับหลักเกณฑ์การกำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนั้นมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ให้คำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาตรา 14 บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่เจ้าของตามมาตรา 11 นั้น ถ้าไม่มีบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดเป็นเฉพาะแล้ว ให้กำหนดราคาทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับตามพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา 6″แสดงว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองฉบับดังกล่าวมีหลักเกณฑ์การกำหนดเงินค่าทดแทนทำนองเดียวกันก็คือถ้าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มิได้บัญญัติเรื่องเงินค่าทดแทนไว้โดยเฉพาะต้องกำหนดเงินค่าทดแทนตามราคาในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา คดีนี้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของนางสมรที่ดินโฉนดเลขที่ 5370 ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา (พระโขนง)กรุงเทพมหานคร เป็นการเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์และแขวงสีลม เขตบางรักและแขวงยานนาวาแขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 โดยมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ ตำบลสีลมอำเภอบางรัก และตำบลยานนาวา ตำบลทุ่งมหาเมฆ ตำบลทุ่งวัดดอนตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2506และ พ.ศ. 2511 ซึ่งพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2506 สิ้นอายุและได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 16 ตุลาคม 2511 เมื่อพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในเรื่องเงินค่าทดแทนไว้ จึงต้องกำหนดเงินค่าทดแทนโดยใช้ราคาในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 คือวันที่ 16 ตุลาคม2511 เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทน แต่ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า หลังจากที่ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ใช้บังคับแล้ว จำเลยที่ 1และที่ 2 ก็มิได้ดำเนินการชดใช้ค่าทดแทนให้แก่นางสมรในเวลาอันควรและจำเลยที่ 2 เพิ่งจะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 และคณะกรรมการดังกล่าวเพิ่งจะพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่นางสมรในปี 2531เช่นนี้ ย่อมทำให้นางสมรได้รับความเสียหายและเป็นระยะเวลาล่วงเลยหลังจากที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ใช้บังคับแล้วนานเกินสมควร การที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่นางสมรโดยพิจารณาราคาที่ดินในปี พ.ศ. 2511เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนนั้นย่อมไม่เป็นธรรมแก่นางสมรไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ตอนท้ายที่ว่า “ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแต่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม” อันเป็นหลักการสำคัญในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืน และยังขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2521 มาตรา 33 วรรคสามที่ใช้บังคับในขณะที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516พิจารณากำหนดค่าทดแทน ซึ่งมีหลักการสำคัญว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องชดใช้ค่าทดแทนภายในเวลาอันสมควร ดังนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530จึงต้องพิจารณาจากราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนประกอบราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่รวมทั้งราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตลอดจนสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น ในปี 2531 ซึ่งเป็นปีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 และเป็นปีที่คณะกรรมการดังกล่าวได้พิจารณาเงินค่าทดแทนจึงจะเป็นธรรมแก่นางสมรผู้ถูกเวนคืนตรงกับหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ถูกเวนคืนดังนั้นการที่คณะกรรมการฯกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่นางสมรโดยพิจารณาจากราคาที่ดินในปี 2531 จึงเป็นการถูกต้องและเป็นธรรมแล้วที่โจทก์ฎีกาขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนราคาตารางวาละ 50,000 บาท ซึ่งเป็นราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2535 จึงไม่ถูกต้อง ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ราคาที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนควรเป็นราคาเท่าใดนั้น เห็นว่า คณะกรรมการฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนให้โดยแบ่งเขตที่ดินในระยะ 20 เมตร ถัดจากซอยเกงชวนมีเนื้อที่ 171 ตารางวาราคาตารางวาละ 20,000 บาท เป็นเงิน 3,420,000 บาท ส่วนที่เหลือเลยระยะ 20 เมตร มีเนื้อที่ 77 ตารางวา ราคาตารางวาละ 10,000 บาทเป็นเงิน 770,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,190,000 บาท ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยเนื้อที่ตารางวาละ 16,895.16 บาท โดยคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินในปี 2531 โจทก์ทั้งสองฎีกาว่ามิใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดตามความเป็นจริงในปี 2531 เห็นว่าในข้อนี้โจทก์ทั้งสองเบิกความว่า ที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนมีราคาตารางวาละ 50,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นราคาซื้อขายในท้องตลาดแต่โจทก์ทั้งสองคงกล่าวอ้างและเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนให้ฟังได้ว่าเป็นจริงเช่นนั้น และตามที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 2ก็อ้างว่าราคาที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนเฉลี่ยราคาตารางวาละ33,333.33 บาท แตกต่างจากที่โจทก์เบิกความในชั้นศาล แสดงว่าราคาที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนที่โจทก์เบิกความถึงมิใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดตามความเป็นจริงในปี 2531 จึงรับฟังไม่ได้ว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดตามความเป็นจริงในปี 2531เป็นราคา 50,000 บาท ทั้งโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบถึงเลยว่าในปี2531 หรือในเวลาใกล้เคียงกันที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของนางสมรมีการซื้อขายกันในท้องตลาดราคาเท่าใดเพื่อให้เทียบเคียงได้ว่าที่ดินของนางสมรควรมีราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดเท่าใด เมื่อโจทก์ทั้งสองนำสืบไม่ได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดสำหรับที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนมีราคาเท่าใดประกอบกับที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนอยู่สุดซอยเกงชวนติดกับคลองช่องนนทรีห่างจากถนนนางลิ้นจี่ถึง 500 เมตร และที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าห่างจากถนนจันทร์ 100 เมตรก็เป็นทางซึ่งต้องผ่านสะพานข้ามคลองและฝั่งตรงกันข้ามเป็นสลัมมิใช่ย่านการค้าหรือย่านที่อยู่อาศัยที่ดีนัก ทั้งการเวนคืนที่ดินตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 ก็เพื่อสร้างทางและระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานครอันเป็นประโยชน์สาธารณะมิได้แสวงหากำไร ดังนั้น เมื่อพิจารณาโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5)ดังวินิจฉัยมาแล้ว เห็นว่า ที่คณะกรรมการฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนโดยถือเกณฑ์ตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2531 เป็นราคาที่มีเหตุผลและน่าจะใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามความเป็นจริง ในปี 2531 แต่เมื่อคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่ถูกเวนคืนซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกันและมีเนื้อที่ไม่มากจนเกินไปถึงกับจะมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดราคาให้แตกต่างกันเป็นส่วน ๆ ที่คณะกรรมการฯ กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่นางสมรโดยแบ่งเขตที่ดินออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกกำหนดราคาตารางวาละ 20,000 บาท ส่วนที่เหลือกำหนดราคาตารางวาละ10,000 บาท นั้น เห็นควรกำหนดราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนในราคาเดียวกันคือ ตารางวาละ 20,000 บาท จึงเป็นเงินค่าทดแทน4,960,000 บาท ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการที่สองว่าคณะกรรมการกำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 และจำเลยที่ 1 มีสิทธินำราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนมาหักกับเงินค่าทดแทนได้ในจำนวนเท่าใดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาตรา 14 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ใช้บังคับมาตรา 14 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนได้กระทำให้ทรัพย์สินที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้นเป็นพิเศษในขณะนั้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักกับค่าทดแทน แต่ไม่ให้ถือว่าราคาทรัพย์สินที่ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนเพื่อจะให้เจ้าของทรัพย์สินต้องกลับใช้เงินให้อีก” และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน แต่ไม่ให้ถือว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนเพื่อจะให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกลับต้องใช้เงินให้อีก” และในมาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติว่า “การคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นตามวรรคสองหรือราคาลดลงตามวรรคสามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา”แสดงว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองฉบับต่างมีเจตนารมณ์ที่จะให้นำเอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนและราคาที่สูงขึ้นนั้น เนื่องมาจากการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนนำไปหักออกจากเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนได้ ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนได้รับประโยชน์เกินกว่าที่ควรจะได้แม้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ซึ่งใช้บังคับแก่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในคดีนี้ จะบัญญัติให้การคำนวณอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาและไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการคำนวณราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนก็ตาม แต่คณะกรรมการ ย่อมชอบที่จะนำเอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทนได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์2530 ทั้งนี้โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมเหตุสมผลและที่วิญญูชนจะพึงพิจารณา ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดการได้เปรียบต่อรัฐและมิให้เอกชนเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนบางส่วนได้ประโยชน์เกินสมควรอันไม่เป็นธรรมแก่สังคม ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าคณะกรรมการฯ และจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งมีราคาสูงขึ้นจากการเวนคืนมาหักกับเงินค่าทดแทนจึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้นปัญหาจึงมีต่อไปว่า การที่นางสมรได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ 5370 ที่ถูกเวนคืนออกเป็น 7 แปลง เมื่อวันที่ 1 กันยายน2529 เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 208276 ถึงโฉนดเลขที่ 208281 และโฉนดเลขที่ 5370 เดิม เหลือเนื้อที่ 87 ตารางวา เฉพาะที่ดินแปลงนี้ประสงค์จะให้เป็นทางเข้าออกของที่ดินแปลงที่แบ่งแยกทุกแปลงและในวันเดียวกัน นางสมรได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 208276 และ 208279ให้โจทก์ที่ 2 และนางสมรได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่208277 และ 208280 ให้โจทก์ที่ 1 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่208278, 208281 และ 5370 ยกให้โจทก์ทั้งสอง นายวิกรม คุณะดิลกและนางวิสสมร เรตเบตเตอร์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ รวมคนละเท่า ๆ กัน และนางสมรถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2532โดยโจทก์ฎีกาว่าการที่นางสมรแบ่งแยกที่ดินแบ่งย่อยออกเป็น 7 แปลงและยกให้โจทก์ที่ 2 และทำพินัยกรรมยกให้แก่บุตรโดยสุจริตทำให้ไม่มีที่ดินเหลือจากการเวนคืนเพื่อหักค่าทดแทนนั้นเห็นว่าการที่จะพิจารณาว่ามีที่ดินเหลือจากการเวนคืนหรือไม่ย่อมต้องพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ดินทั้งหมดตามโฉนดของนางสมรที่มีอยู่ในขณะมีการดำเนินการเวนคืนไม่ใช่กรณีเกิดขึ้นภายหลังการเวนคืนแม้ภายหลังนางสมรจะได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ถูกเวนคืนออกเป็นแปลงย่อยและโอนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนให้แก่บุตรก็ยังถือว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืน และนำที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการเวนคืนเพื่อตัดถนนและทำระบบระบายน้ำมาหักออกจากค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนได้ มิฉะนั้นแล้วย่อมเป็นช่องทางให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนหลีกเลี่ยงบทบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ซึ่งเป็นการแปลความไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้ที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมด้วยฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ปัญหาสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าคณะกรรมการ กำหนดราคาที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนเพื่อนำมาหักกับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนได้เป็นจำนวนเท่าใด ในข้อนี้ปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5370 ของนางสมรที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่ 581 ตารางวาแต่ถูกเวนคืน 248 ตารางวา เป็นที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนของที่ดินโฉนดเลขที่ 5370 ของนางสมรเป็นเนื้อที่ 333 ตารางวาเห็นได้ว่าที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีเนื้อที่มากกว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนและจำนวนเนื้อที่ดินที่เหลืออยู่ถึง 333 ตารางวาเป็นเนื้อที่ที่มากสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่เหมือนเดิมและติดกับถนนที่จะก่อสร้างเนื่องจากการเวนคืนซึ่งเป็นถนนที่จะใช้เป็นทางสัญจรกว้าง 60 เมตรถือได้ว่าเป็นถนนขนาดใหญ่ที่ดินของนางสมรที่เหลืออยู่จึงเป็นที่ดินที่ติดกับถนนขนาดใหญ่ราคาย่อมสูงขึ้นกว่าธรรมดามาก สภาพที่ดินของนางสมรที่เหลือเทียบเคียงได้กับที่ดินที่อยู่ติดถนนจันทน์ตัดใหม่ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันตามที่จำเลยนำสืบ ดังนั้นราคาค่าความเจริญที่คณะกรรมการฯ กำหนดสำหรับที่ดินของนางสมรที่เหลือจากการเวนคืนในระยะ 20 เมตร จากถนนที่จะตัดผ่านในราคาตารางวาละ 40,000 บาทและส่วนที่ลึกเข้าไปราคาลดหลั่นลงไปโดยเทียบเคียงกับราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2531 ของที่ดินริมถนนจันทน์ตัดใหม่ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนและเมื่อคำนวณแล้วเป็นเงิน 11,980,000 บาท นั้นจึงเป็นราคาที่มีเหตุผลสัมพันธ์กับการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของนางสมรที่ถูกเวนคืนแล้วที่โจทก์นำสืบว่าราคาที่ดินของนางสมรที่เหลือจากการเวนคืนสูงขึ้นเพียง 5,000 บาท เป็นค่าเบิกความลอย ๆ และไม่สมเหตุผลขัดกับสภาพความเป็นจริง คณะกรรมการฯ และจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธินำราคาสูงขึ้นของที่ดินของนางสมรที่เหลือจากการเวนคืนเป็นเงิน 11,980,000 บาท มาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางสมรและในฐานะส่วนตัว เมื่อคิดคำนวณหักกลบลบกันกับเงินค่าทดแทน 4,960,000 บาท ที่โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะส่วนตัวจะได้รับแล้วจึงเกลื่อนกลืนกัน จำเลยทั้งสี่ไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองจึงถูกต้องแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน