แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 จัตวา (3) นั้น หากผู้ที่อ้างว่ามิใช่บริวารไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หาได้มีผลเด็ดขาดเป็นการตัดสิทธิห้ามฟ้องร้องภายหลังไม่ และเมื่อโจทก์มิได้ร้องเข้ามาในคดีโจทก์ย่อมมิได้อยู่ในฐานะคู่ความในคดีดังกล่าว จึงไม่ผูกพันในผลแห่งคดีต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องไม่ว่าจะด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนแต่ประการใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน 1 แปลงอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรังเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา ที่ดินบางส่วนเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 103 หมู่ที่ 3(ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 5) ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรังเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2538 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุวรรณ แจ้งอักษร ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยังที่ดินของโจทก์ แจ้งให้โจทก์รื้อถอนพืชผลอาสินต่าง ๆ ในที่ดินแปลงดังกล่าวเสียให้หมด โดยอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบ่าวนุ้ย หมื่นท่องวารี กับพวกรวม 7 คน ซึ่งรวมทั้งนายมะแอ หมาดทิ้ง บุตรของโจทก์เป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 526/2531 ของศาลชั้นต้น การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์และรบกวนสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารไปเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าว
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นบุตรและเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวรรณ แจ้งอักษร ที่ดินของโจทก์มีไม่เกิน 5 ไร่ ซึ่งโจทก์ใช้ทำนาปลูกข้าว ส่วนที่ดินที่โจทก์ฟ้องนอกนั้นซึ่งใช้ปลูกมะม่วงหิมพานต์และมะพร้าวไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นที่ดินส่วนหนึ่งของนายสุวรรณ ตามหลักฐาน ส.ค.1 เลขที่ 164เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 50 ไร่ ก่อนนายสุวรรณถึงแก่กรรมก็ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเต็มเนื้อที่หลังจากนายสุวรรณถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยก็ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องตลอดมาจนเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2530 นายบ่าวนุ้ย หมื่นท่องวารีและบุคคลอื่นอีก 6 คน ซึ่งรวมทั้งนายมะแอได้บุกรุกที่ดินของนายสุวรรณแปลงดังกล่าวนี้ ส่วนที่นายมะแอบุกรุกเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ตามเส้นสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายคำให้การ ต่อมาจำเลยได้ฟ้องขับไล่ผู้ที่บุกรุกที่ดินเหล่านี้ และศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้ผู้บุกรุกเหล่านี้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอพยพครอบครัวพร้อมด้วยบริวารออกไปจากที่ดินและส่งมอบที่ดินคืนในสภาพเดิม โจทก์ไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินที่นายมะแอบุกรุก อย่างไรก็ตามหากที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ โจทก์ก็หมดสิทธิฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองแล้วเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดทำแผนที่พิพาทในคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องผู้บุกรุกที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นการแย่งการครอบครองอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้อง คำให้การจำเลยประกอบกับสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 526/2531 ของศาลชั้นต้นแล้วจึงงดชี้สองสถานและงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่าคดีพิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปบังคับคดีให้โจทก์รื้อถอนพืชผลอาสินต่าง ๆ ซึ่งโจทก์ชอบที่จะไปดำเนินการแสดงอำนาจพิเศษในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 526/2531 ของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3)การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นคดีนี้ใหม่นั้นไม่อาจกระทำได้จึงให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงและรูปคดีที่ปรากฏพออนุมานได้ว่าต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 จัตวา (3) แต่ตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้หากไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันปิดประกาศให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้นหาได้มีผลเด็ดขาดเป็นการตัดสิทธิห้ามฟ้องร้องภายหลังไม่และเมื่อมิได้ร้องเข้ามาในคดี โจทก์ย่อมมิได้อยู่ในฐานะคู่ความในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันในผลแห่งคดีต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องไม่ว่าจะด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายในเรื่องฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนแต่ประการใด
พิพากษายืน