คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา183วรรคสี่จำเลยทั้งสองมีสิทธิคัดค้านประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ไม่ถูกต้องโดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นส่งกำหนดประเด็นและศาลชั้นต้นต้องชี้ขาดคำคัดค้านนั้นก่อนวันสืบพยานซึ่งคำชี้ขาดคำคัดค้านดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226ปรากฎว่าเมื่อวันที่16มิถุนายน2537ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าตามฟ้องหรือไม่ทนายจำเลยทั้งสองได้แถลงโต้แย้งด้วยวาจาขอให้ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องสัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาไว้ด้วยศาลชั้นต้นมิได้ชี้ขาดคำคัดค้านของทนายจำเลยทั้งสองแต่มีคำสั่งให้ยื่นบันทึกข้อโต้แย้งต่อศาลภายใน7วันต่อมาวันที่22มิถุนายน2537ทนายจำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องขอให้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงให้ยกคำร้องถือว่าเป็นการชี้ขาดคำคัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา183วรรคสี่จำเลยทั้งสองต้องโต้แย้งไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226วรรคสองจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้แต่การที่จำเลยทั้งสองระบุท้ายคำร้องลงวันที่22มิถุนายน2537ว่าให้ถือคำแถลงฉบับดังกล่าวเป็นคำโต้แย้งคำสั่งศาลเพื่อสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาต่อไปนั้นเป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งชี้ขาดไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226(2)จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากอาคารพาณิชย์เลขที่ 86/15-16 หมู่ที่ 11 แขวงบางปะกอกเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันซ่อมแซมอาคารดังกล่าวให้อยู่ในสภาพดีเหมือนขณะที่เริ่มทำสัญญาเช่าด้วยเงินค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองและส่งมอบคืนโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากอาคารเลขที่ 86/15-16 หมู่ที่ 11 แขวงบางปะกอกเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันซ่อมแซมอาคารดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมือนขณะเริ่มทำสัญญาเช่าด้วยเงินค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองและส่งมอบอาคารคืนโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาประการแรกว่าศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์น่าจะรู้เห็นในการต่อเติมดัดแปลงอาคารพิพาทจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาท และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า น่าเชื่อว่าโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมให้จำเลยทั้งสองทำการต่อเติมดัดแปลงอาคารพิพาท โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ดังนั้นที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าโจทก์น่าจะรู้เห็นในการต่อเติมดัดแปลงอาคารพิพาทจึงเป็นการโต้เถียงการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวนจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นที่จำเลยทั้งสองฎีกาประการต่อมาว่า จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2537 โต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าสัญญาเช่าตามเอกสารหมาย จ.1เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาหรือไม่ไว้แล้วจึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้นั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคสี่ จำเลยทั้งสองมีสิทธิคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ไม่ถูกต้อง โดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นสั่งกำหนดประเด็นและศาลชั้นต้นต้องชี้ขาดคำคัดค้านนั้นก่อนวันสืบพยาน ซึ่งคำชี้ขาดคำคัดค้านดังกล่าวให้อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ปรากฎว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงประเด็นเดียวว่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าตามฟ้องหรือไม่ ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 16 มิถุนายน 2537 ทนายจำเลยทั้งสองได้แถลงโต้แย้งด้วยวาจาขอให้ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องสัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาไว้ด้วย ศาลชั้นต้นมิได้ชี้ขาดคำคัดค้านของทนายจำเลยทั้งสอง แต่มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองยื่นบันทึกข้อโต้แย้งต่อศาลภายใน 7 วัน ต่อมาเมื่อทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 22 มิถุนายน 2537 ขอให้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มเติมว่า สัญญาเช่าท้ายฟ้องเป็นสัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงให้ยกคำร้อง เป็นการชี้ขาดคำคัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคสี่ จำเลยทั้งสองต้องโต้แย้งไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 วรรคสอง จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ การที่จำเลยทั้งสองระบุท้ายคำร้องลงวันที่ 22มิถุนายน 2537 ว่า ให้ถือคำแถลงฉบับดังกล่าวเป็นคำโต้แย้งคำสั่งศาลเพื่อสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาต่อไปนั้น เป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งชี้ขาดไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้วฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share