คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2493 มาตรา 43 นั้นผู้ใดเข้ามาในราชอาณาจักรอ้างตนว่าเป็นคนไทย ผู้นั้นย่อมร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อศาลได้ โดยไม่จำต้องมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของผู้นั้นแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทย เกิดวันที่ 16 กรกฎาคม 2482 ที่จังหวัดนครสวรรค์ บิดาเป็นจีน มารดาเป็นคนไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2492 ผู้ร้องได้เดินทางไปเรียนหนังสือจีนที่กวางตุ้งประเทศจีนแล้วมาอยู่ฮ่องกง บัดนี้มีความประสงค์จะกลับมาอยู่ในประเทศไทย ได้เดินทางเข้ามาแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ว่าผู้ร้องเป็นคนต่างด้าว จึงร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อศาล

พนักงานอัยการยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่คนสัญชาติไทยเป็นคนสัญชาติจีน ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะร้องต่อศาล

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทย มีสิทธิอยู่ในประเทศไทยได้ตามคำร้องขอ

อัยการผู้ร้องคัดค้าน อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

อัยการผู้ร้องคัดค้าน ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นบุตรนายหย่วนและนางฝอยเกิดที่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2482มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 7 คน ผู้ร้องเป็นบุตรคนที่ 3 เดิมชื่อแก้ว ต่อมาตอนเข้าโรงเรียนบริบาลวิทยา ครูใหญ่ตั้งชื่อให้ใหม่ว่าโกวิท ผู้ร้องเรียนจบประถม 3 ปี พ.ศ. 2492 แล้วได้เดินทางไปประเทศจีนเดินทางกลับมาประเทศไทย 29 พฤษภาคม 2502 ผู้ร้องนำหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองว่าเป็นคนไทยแต่ทางกองตรวจคนเข้าเมืองไม่ยอม ผู้ร้องจึงได้ร้องต่อศาล

ฎีกาผู้ร้องคัดค้านในข้อที่ว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้สั่งหรือกำหนดให้ผู้ร้องออกไปจากประเทศ ถือว่ายังไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ร้องอย่างใด ผู้ร้องจึงยังไม่มีสิทธิที่จะร้องต่อศาลได้นั้น ก็ได้ความจากผู้ร้องว่าได้นำหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองว่าเป็นคนไทย แต่ทางกองตรวจคนเข้าเมืองไม่ยอมซึ่งถือได้ว่าผู้ร้องได้ถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว ทั้งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 มาตรา 43 ได้บัญญัติว่า “ผู้ใดซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรอ้างตนว่าเป็นคนไทย ผู้นั้นต้องเป็นผู้พิสูจน์การพิสูจน์นั้นจะกระทำโดยร้องขอพิสูจน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือร้องขอต่อศาลให้วินิจฉัยก็ได้” ดังนี้ผู้ร้องย่อมร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของตนแต่อย่างใด ฎีกาของผู้ร้องคัดค้านฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share