คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 768/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีหรือปัญหาข้อกฎหมายมีอยู่อย่างไรนำมาปรับคดีได้อย่างไรเพื่อศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยคดีตามข้ออุทธรณ์ได้ถูกต้องตามประเด็นที่ยังคงโต้เถียงกันอยู่เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในประเด็นที่ว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนหรือไม่พอสรุปได้ความเพียงว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงซื้อขายที่ดินกันแต่จำเลยไม่ชำระราคาที่ดินให้ครบจำนวนถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญาโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิจะฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยเกี่ยวกับที่ดินตามที่ได้ตกลงซื้อขายกันได้เท่านั้นอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองหาได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้ให้ชัดแจ้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบอย่างไรและโจทก์ทั้งสองควรจะชนะคดีได้เพราะเหตุใดไม่ส่วนอุทธรณ์ประเด็นราคาที่ดินที่ตกลงซื้อขายและการชำระราคาที่ดินของจำเลยโจทก์ทั้งสองเพียงแต่นำคำเบิกความของพยานโจทก์ในสำนวนมากล่าวอ้างไว้ในอุทธรณ์แล้วสรุปตามคำเบิกความดังกล่าวว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทในราคาไร่ละ200,000บาทมิใช่ไร่ละ30,000บาทจำเลยยังชำระราคาที่ดินให้แก่โจทก์ไม่ครบเท่านั้นหาได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าไม่ชอบอย่างไรหรือเพราะเหตุใดไม่อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับเงินจำนวน 1,100,000 บาทจากโจทก์ ให้จำเลยโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 56 เลขที่ดิน 6 หมู่ที่ 5 ตำบลน้ำชุนอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ คืนโจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย หากไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้จำเลยใช้ราคาที่ดินส่วนที่เหลือ จำนวน 3,205,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาที่ต้องวินิจฉัยว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ โดยไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการอุทธรณ์ไม่ว่าในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีหรือปัญหาข้อกฎหมายมีอยู่อย่างไร นำมาปรับคดีได้อย่างไรเพื่อศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยคดีตามข้ออุทธรณ์ได้ถูกต้องตามประเด็นที่ยังคงโต้เถียงกันอยู่ สำหรับคดีนี้เมื่อตรวจพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในประเด็นที่ว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนหรือไม่แล้ว พอสรุปได้ความตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างมาในอุทธรณ์แต่เพียงว่า กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาซื้อขายเพราะโจทก์จำเลยได้ตกลงซื้อขายที่ดินกัน แต่การที่จำเลยไม่ชำระราคาที่ดินให้ครบจำนวนตามที่ตกลงซื้อขายกันนั้น ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญา เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิโดยชอบที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยเกี่ยวกับที่ดินตามที่ได้ตกลงซื้อขายกันได้เท่านั้น อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวหาได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้ให้ชัดแจ้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบอย่างไร และโจทก์ทั้งสองควรจะชนะคดีได้เพราะเหตุใดไม่ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองสำหรับราคาที่ดินที่ตกลงซื้อขายและการชำระราคาที่ดินของจำเลย โจทก์ทั้งสองเพียงแต่นำคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 และพยานโจทก์ในสำนวนมากล่าวอ้างไว้ในอุทธรณ์ แล้วสรุปตามคำเบิกความดังกล่าวว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทในราคาไร่ละ 200,000 บาทมิใช่ราคาไร่ละ 30,000 บาท และจำเลยยังชำระราคาที่ดินให้แก่โจทก์ไม่ครบจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเท่านั้น โจทก์ทั้งสองหาได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าไม่ชอบอย่างไร หรือเพราะเหตุใดไม่อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ไม่รับวินิจฉัยให้โดยพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองนั้นชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share