คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9709/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทซึ่งจำเลยในฐานะกรรมการผู้จัดการลงชื่อรับรองว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นระบุว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง และสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นนั้นกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 เมื่อจำเลยไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบริษัท โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2)
ตามสัญญาสนับสนุนการลงทุนระบุว่าคู่สัญญาฝ่ายที่ 1 (บริษัทเอ็ม.พีปิโตรเลียม จำกัด) ตกลงให้เงินลงทุนแก่คู่สัญญาฝ่ายที่ 2 (จำเลยและบริษัทตะวันอีสาน จำกัด) จำนวน 15,000,000 บาท โดยจะมอบให้เมื่อคู่สัญญาฝ่ายที่ 2 ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาข้อ 3.1 แม้จำเลยจะรับเงินจำนวนดังกล่าวต่างวันกันแบ่งเป็นสองจำนวน แต่เจตนาที่จำเลยกระทำเป็นเจตนาที่กระทำต่อเงินจำนวน 15,000,000 บาท ทั้งจำนวน จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันเพื่อเงินจำนวนดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่แสดงเกี่ยวกับรายการดังกล่าวให้ปรากฏเป็นยอดรวมในงบดุลเพียงครั้งเดียว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2535 การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔๒ (๑) (๒) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ , ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔๒ (๒) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔๒ (๒) ลงโทษจำคุก ๑ ปี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย ๕๐,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์แล้วสมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์และจำเลยไปในคราวเดียวกันโดยจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อแรกเสียก่อนว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทตะวันอีสาน จำกัด และเป็นผู้เสียหายจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยลงชื่อรับรองว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นตามเอกสารหมาย จ. ๑๗ ระบุว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง และสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นนั้น กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๔๑ เมื่อจำเลยไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบริษัทตะวันอีสาน จำกัด โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๙๗๑๑ และ ๕๙๗๐๙ ตำบลในเมือง (ศิลา) อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และสถานีบริการน้ำมันพร้อมอุปกรณ์ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๒๒๙ ตำบลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และโฉนดเลขที่ ๒๖๙๖๘ ตำบลสองห้อง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย เป็นทรัพย์สินของบริษัทตะวันอีสาน จำกัด หรือไม่ เห็นว่า โฉนดที่ดิน ๓ แปลงแรก มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ ส่วนที่ดินแปลงที่ ๔ มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับพลตรีธงชัย เจิมเจิดพล จึงเป็นทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๓ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานเอกสารว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดิน ๓ แปลงแรก และเป็นเจ้าของร่วมกับพลตรีธงชัย เจิมเจิดพล ในที่ดินแปลงที่ ๔ ส่วนสิ่งปลูกสร้างและสถานีบริการน้ำมันพร้อมอุปกรณ์ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔ วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เป็นของบริษัทตะวันอีสาน จำกัด ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า สำหรับเช็คจำนวน ๕,๕๐๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย จ. ๙ ซึ่งจำเลยได้รับมาในนามของบริษัทตะวันอีสาน จำกัด และในนามของจำเลย จำเลยไม่ต้องนำมาลงในงบดุลนั้น เห็นว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นรายได้ของบริษัทตะวันอีสาน จำกัด ซึ่งบริษัทสามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายในกิจการของบริษัทได้ ดังนั้น จำเลยจึงต้องนำรายได้ดังกล่าวลงบัญชีแยกประเภทของบริษัทเพื่อนำมาคำนวณและแสดงในงบดุลเกี่ยวกับสินทรัพย์และหนี้สิน ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยได้รับเงิน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยแยกเป็น ๒ รายการ โดยเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ได้รับจำนวน ๙,๕๐๐,๐๐๐ บาท และในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ได้รับอีกจำนวน ๕,๕๐๐,๐๐๐ บาท จึงต่างวันต่างเวลากัน เมื่อจำเลยไม่นำรายได้ดังกล่าวที่ได้รับในแต่ละครั้งลงบัญชี การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่างกรรมกัน จึงต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปนั้น เห็นว่า ตามสัญญาสนับสนุนการลงทุน ข้อ ๒.๑ เอกสารหมาย จ. ๔ ระบุว่า คู่สัญญาฝ่ายที่ ๑ (บริษัทเอ็ม . พี . ปิโตรเลียม จำกัด) ตกลงให้เงินลงทุนแก่คู่สัญญาฝ่ายที่ ๒ (จำเลยและบริษัทตะวันอีสาน จำกัด) จำนวน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยจะมอบให้เมื่อคู่สัญญาฝ่ายที่ ๒ ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาข้อ ๓.๑ ดังนั้น เจตนาที่จำเลยกระทำจึงเป็นเจตนาที่กระทำต่อเงินจำนวน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งจำนวน จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันเพื่อเงินจำนวนดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่แสดงเกี่ยวกับรายการดังกล่าวให้ปรากฏเป็นยอดรวมในงบดุลเพียงครั้งเดียว ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๕ การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยยื่นคำแถลงการณ์ว่า บัดนี้ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นว่า โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นในบริษัทตะวันอีสาน จำกัด แทนจำเลย คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว เห็นว่า คดีที่จำเลยอ้างถึงนั้นโจทก์ฟ้องจำเลยฐานยักยอกเงินจำนวนอื่น มิได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้แต่อย่างใด จึงมิได้เป็นเรื่องที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๔) ฎีกาของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
(สุรศักดิ์ กาญจนวิทย์ – วิชัย ชื่นชมพูนุท – พีรพล จันทร์สว่าง)

Share