คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5768/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การใช้กำลังประทุษร้ายอันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก นั้น ต้องเป็นการประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น มิใช่กระทำต่อคนร้าย ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ถีบหลังจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนร้ายร่วมกระทำความผิดด้วยกันล้มลงแม้จะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายจำเลยที่ 1 ในขณะจำเลยที่ 1 เดินตามผู้เสียหาย จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก
จำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้ชี้มือไปทางผู้เสียหายและวิ่งตามไป แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีอาวุธใดติดตัวมาด้วยหรือแสดงอากรหรือวาจาข่มขู่ผู้เสียหาย จึงไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์และทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสามขาดองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง จำเลยทั้งสามคงมีความผิดฐานร่วมลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 336 ทวิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันลักเงินสดจำนวน 1,500,000บาท ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยบ้านพรุ ขณะอยู่ในความครอบครองของนายชัยศักดิ์ หงษ์ทองกิจเสรี ผู้จัดการธนาคารดังกล่าว ผู้เสียหาย ไปโดยทุจริตในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยที่ 1มีอาวุธปืนติดตัวและจำเลย (ที่ถูกจำเลยที่ 2) ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ และจำเลยทั้งสามได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อการลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม เหตุเกิดที่ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ต่อมาในวันที่ 4 มกราคม 2540 เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้และยึดเงินจำนวน 1,500,000 บาท ที่ถูกจำเลยทั้งสามเอาไป กับรถจักรยานยนต์1 คัน เป็นของกลาง จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 789/2540 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 33 ริบรถจักรยานยนต์ของกลางและนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 789/2540 ของศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุกคนละ 18 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 12 ปี คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ, 83 ให้จำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน ลดโทษหนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกคนละ 5 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 2ได้ถีบหลังจำเลยที่ 1 จนล้มลงแล้วจำเลยที่ 2 แย่งเอากระเป๋าใส่เงินจำนวน 1,500,000 บาท วิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 3จอดรออยู่ริมถนนขับหลบหนีไป ต่อมาวันที่ 4 มกราคม 2540 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 3 พร้อมทั้งยึดรถจักรยานยนต์ของกลางและจับจำเลยที่ 2 พร้อมทั้งยึดเงินของกลางจำนวน 1,500,000 บาท

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 มีว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทโพธสวยสุวรรณ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่าหลังเกิดเหตุผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งแต่งตั้งชุดสืบสวนสอบสวนคดีอาญา พยานอยู่ในชุดสอบสวนด้วยตามเอกสารหมาย จ.9 จากการสอบสวนมีข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 น่าจะมีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วย จึงตั้งข้อหาจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต ต่อมาจำเลยที่ 1 ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจชุดสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำความผิดคดีนี้กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 พยานได้แจ้งให้พันตำรวจโทสาคร ทองมุณี และเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนคดีอาญาทราบทุกคน หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยที่ 3 พร้อมรถจักรยานยนต์ของกลางและจับกุมจำเลยที่ 2 ได้พร้อมเงินของกลางจำนวน 1,500,000 บาท โดยพยานไปร่วมจับกุมด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วย ซึ่งพันตำรวจโทสาคร ทองมุณีและพันตำรวจตรีคมกฤช ศรีสงค์ ผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3ก็ได้เบิกความสนับสนุนในส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วย โดยเฉพาะพันตำรวจโทสาครยังเบิกความอีกว่า พันตำรวจโทโพธแจ้งทางโทรศัพท์ให้ทราบว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดด้วยซึ่งก็ตรงกับที่พันตำรวจโทโพธเบิกความเช่นกัน พยานโจทก์ดังกล่าวไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อนจึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลยที่ 1 น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง อีกทั้งได้ความจากนายขวัญชัย นวลละอองพยานโจทก์ผู้ขายรถจักรยานยนต์แก่จำเลยที่ 3 ว่า ปลายเดือนธันวาคม 2539 ก่อนเกิดเหตุพยานเคยไปนั่งดื่มสุรากับจำเลยที่ 3ที่ร้านอาหารน้องนุชโดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมดื่มสุราด้วยแสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้จักจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาก่อน ประกอบกับจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของธนาคารที่เกิดเหตุซึ่งนายชัยศักดิ์ หงษ์ทองกิจเสรี ผู้จัดการธนาคารดังกล่าวผู้เสียหายก็เบิกความว่าในการไปเบิกเงินเกือบทุกครั้งจะพาจำเลยที่ 1 ไปด้วยและพนักงานธนาคารทุกคนจะทราบว่าเมื่อมีการหยุดหลายวันในวันเปิดทำการวันแรกจะไปเบิกเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดสาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และคดีนี้ก็มีวันหยุดปีใหม่หลายวันวันเกิดเหตุเป็นวันเปิดทำการวันแรกจะต้องไปเบิกเงิน อันเป็นการบ่งชี้ว่าการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แย่งชิงเอาเงินของกลางไปได้ในวันเกิดเหตุเนื่องจากอาศัยข้อมูลจากจำเลยที่ 1 ที่รู้จักกันมาก่อนมิฉะนั้นคงไม่ทราบว่านายชัยศักดิ์จะไปเบิกเงินกันวันใด นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.14โดยมีรายละเอียดข้อเท็จจริงสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.15และ จ.16 รวมทั้งบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.14 ระบุให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนต่อหน้าพลตำรวจตรีชูชาติ ทัศนเสถียร พลตำรวจตรีศุภชัย ลิ่มเฉลิมวงศ์และนายตำรวจยศนายพันอีกหลายนายด้วย ซึ่งล้วนเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จึงไม่น่าเป็นได้ว่าจะปรักปรำให้ร้ายจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่ให้การเช่นนั้น เชื่อว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ เมื่อนำมาประกอบพยานหลักฐานโจทก์อื่น ๆ และพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าพันตำรวจโทโพธ พนักงานสอบสวนเบิกความขัดกับพันตำรวจตรีคมกฤช ศรีสงค์ เกี่ยวกับการแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยพันตำรวจโทโพธ โทรศัพท์แจ้งพันตำรวจตรีคมกฤชแล้ว แต่พันตำรวจตรีคมกฤชเบิกความว่าขณะตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 3 พันตำรวจโทโพธไม่ได้แจ้งว่าจำเลยที่ 1 ให้การอย่างไรแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การรับสารภาพนั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุและจับกุมจำเลยทั้งสามในคดีนี้เป็นเดือนมกราคม 2540 แต่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ว่าทั้งพันตำรวจโทโพธและพันตำรวจตรีคมกฤชมาเบิกความต่อศาลเมื่อเดือนเมษายน 2541 เป็นเวลาห่างกันประมาณ 1 ปี พยานโจทก์ทั้งสองย่อมอาจจำเหตุการณ์สับสนและหลงลืมไปบ้าง จึงเบิกความไม่สอดคล้องกันเป็นเรื่องธรรมดา หาเป็นสาระสำคัญไม่ จึงไม่อาจถือว่าขัดกันอันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การรับสารภาพตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกามาไม่ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยไม่ใช่สาระสำคัญหาทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่ จึงไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น

ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2ถีบหลังจำเลยที่ 1 ล้มลงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายจำเลยที่ 1ในขณะจำเลยที่ 1 เดินตามนายชัยศักดิ์ ผู้จัดการธนาคารที่เกิดเหตุผู้เสียหาย แสดงว่าเงินของกลางยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย แต่การใช้กำลังประทุษร้ายอันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรกนั้น ต้องเป็นการประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น มิใช่กระทำต่อคนร้ายผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันดังจะเห็นได้จากเหตุที่ทำให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษหนักขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม ถึงวรรคห้า อันได้แก่การกระทำผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย ผลของการกระทำล้วนเกิดแก่ผู้อื่นทั้งนั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้กำลังประทุษร้ายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนร้ายผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก และแม้จะได้ความจากคำเบิกความของนายชัยศักดิ์ผู้เสียหายว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้ชี้มือไปทางผู้เสียหายซึ่งวิ่งตามไปก็ตามแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีอาวุธใดติดตัวมาด้วยหรือแสดงอาการหรือวาจาข่มขู่ผู้เสียหายเลย ดังนั้น เพียงแต่จำเลยที่ 2 ชี้มือมาทางผู้เสียหายเท่านั้นยังไม่พอให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เช่นกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามขาดองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามฟ้องจำเลยทั้งสามคงมีความผิดฐานร่วมลักทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7) วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานนี้ชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share