คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2987/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถูกแก้วบาดเท้าเอ็นขาด ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณามาครั้งหนึ่งแล้ว ถึงวันนัดขอเลื่อนอีก ศาลไม่อนุญาต เพราะได้กำชับไว้ในครั้งก่อนแล้วว่า ถ้าทนายป่วยก็ให้จำเลยแต่งตั้งทนายความคนใหม่ คำสั่งดังกล่าวจำเลยยังไม่ทราบ ดังนี้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณา จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ โดยไม่พิจารณาคดีโจทก์และจำเลยที่ 2 ด้วยนั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 เลื่อนคดี ย่อมมีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย

ย่อยาว

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่มาศาล ส่วนทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3 ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาอ้างว่าป่วยศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อน และสั่งว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระแทนศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีสำหรับโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามท้องสำนวนว่าศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 8 เมษายน 2524 ทนายจำเลยที่ 1ที่ 3 ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาเนื่องจากถูกแก้วบาดเท้าเอ็นขาด 2 เส้นโดยมอบอำนาจให้เสมียนทนายยื่นคำร้องและฟังคำสั่งแทน โจทก์ไม่คัดค้านศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปวันที่ 6 พฤษภาคม 2524 และสั่งว่านัดหน้าหากทนายจำเลยป่วยหรือติดธุระไม่อาจมาศาลได้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 แต่งตั้งทนายความอื่นเข้ามาใหม่ และทนายความคนใหม่จะต้องไม่ป่วยและมีเวลาว่าความคดีนี้ได้ ครั้นถึงวันนัดทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3 ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาอีกอ้างว่าบาดแผลยังไม่หาย และไม่สามารถติดต่อกับตัวความได้เพราะจำเลยที่ 1 เลิกประกอบกิจการแล้วและติดตามหาตัวจำเลยที่ 3 ไม่พบโดยมอบให้เสมียนทนายยื่นคำร้องและฟังคำสั่งแทน โจทก์แถลงคัดค้านศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนและสั่งว่า จำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา(จำเลยที่ 2 ทราบนัดแล้วไม่มาศาล) ทำการสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี พิเคราะห์แล้วทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3 ได้รับบาดเจ็บถูกแก้วบาดเท้า จึงให้แพทย์ที่งามวงศ์วานโพลีคลีนิคทำบาดแผลให้ ปรากฏว่าเอ็นขาด 2 เส้นตามใบรับรองแพทย์ท้ายคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาครั้งแรกต่อมาบาดแผลอักเสบจึงไปรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ แพทย์รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล 15 วัน ออกจากโรงพยาบาลวันที่ 1 พฤษภาคม 2524 แพทย์ลงความเห็นว่าสมควรหยุดงานต่อไปอีก 1 เดือน ตามใบรับรองแพทย์ท้ายคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาครั้งที่สอง ศาลฎีกาเห็นว่าบาดแผลของทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3 ตามที่แพทย์รับรองมามิใช่บาดเจ็บเล็กน้อย พอออกจากโรงพยาบาลวันที่ 1 ในวันที่ 6 เดือนเดียวกันนั้นก็เป็นวันนัดสืบพยานโจทก์คดีนี้ทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3 น่าจะยังไม่หายจากป่วยเจ็บและทำงานได้ตามปกติที่โจทก์คัดค้านการขอเลื่อนมิได้แถลงเหตุแห่งการคัดค้าน ตามรูปคดีเชื่อว่าทั้งศาลชั้นต้นและโจทก์ต่างเชื่อว่าทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3 ป่วยเจ็บจริง ดังนั้นแม้โจทก์คัดค้านการขอเลื่อน กรณีก็มีความจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้สมควรอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 แต่ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนเพราะได้กำชับไว้ในครั้งก่อนแล้วว่า ถ้าทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3 ป่วย ก็ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 แต่งตั้งทนายความคนใหม่ คำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ 1 ที่ 3 ยังไม่ทราบ ดังจะเห็นได้จากคำร้องของทนายจำเลยที่ 1 ที่ 3 ว่า ยังติดต่อกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ไม่ได้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ต่อไปแล้วพิพากษาใหม่โดยไม่พิจารณาคดีโจทก์และจำเลยที่ 2 ใหม่ด้วยนั้นยังไม่ถูกต้องเพราะมูลแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การอนุญาตให้จำเลยที่ 1ที่ 3 เลื่อนคดีย่อมมีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(2)

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ใหม่ ตามกระบวนความแล้วพิพากษาไปตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share