แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 มีบทบัญญัติมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 ซึ่งกำหนดให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้นเป็นความผิดทางอาญาเป็นเพราะเครื่องหมายการค้าที่ได้รับจดทะเบียนในราชอาณาจักรจะได้รับความคุ้มครองสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 44 เฉพาะในเขตพื้นที่ภายในราชอาณาจักรเท่านั้น ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรแต่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรไม่อาจฟ้องคดีเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนหรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 46วรรคแรก เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีบุคคลอื่นเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 46 วรรคสอง ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ซึ่งออกมาใช้บังคับก่อน พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอมได้ด้วย แม้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 มิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนนอกราชอาณาจักรไว้เช่นนั้นก็ไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯเมื่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ เป็นกฎหมายเฉพาะซึ่งใช้บังคับในภายหลังมาตรา 3 วรรคแรก ให้ยกเลิกเฉพาะพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2504 เท่านั้น มิได้ให้ยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ด้วย ทั้งไม่อาจถือว่ามาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ บทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 จึงมิได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ดังนั้นการที่จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้ากระเป๋าที่มีเครื่องหมายการค้าซึ่งมีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร จึงมีความผิดและต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2544 เวลากลางวัน จำเลยได้เสนอจำหน่ายสินค้ากระเป๋าจำนวน 48 ใบ ที่มีเครื่องหมายการค้าซึ่งมีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าของบริษัทคิปลิงก์ สวิตเซอร์แลนด์ เอจี จำกัด ผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร ในวันเวลาดังกล่าวข้างต้นเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมกับยึดสินค้ากระเป๋าที่จำเลยเสนอจำหน่ายจำนวน 48 ใบดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273, 32 และ 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275ประกอบด้วยมาตรา 273 อันเป็นบทกฎหมายทั่วไป แต่ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 บัญญัติให้การเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นปลอมเป็นความผิดเฉพาะกรณีที่เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นนั้นได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้น อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะ จึงต้องบังคับตามบทกฎหมายเฉพาะ ส่วนบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวอันเป็นบทกฎหมายทั่วไปจะใช้บังคับได้เท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเท่านั้น เมื่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาตามคำฟ้องแตกต่างจากพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าดังกล่าว จึงลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายตามคำฟ้องไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้เสนอจำหน่ายสินค้ากระเป๋าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของบริษัทคิปลิงก์ สวิตเซอร์แลนด์ เอจี จำกัด ผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยยังคงเป็นความผิดและต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275ประกอบด้วยมาตรา 273 ตามคำฟ้องของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ปัญหานี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรกบัญญัติว่า บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายและประมวลกฎหมายอาญาลักษณะ 8 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการค้ามาตรา 273 บัญญัติว่า ผู้ใดปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้วไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภายในหรือนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 275 บัญญัติว่า ผู้ใดนำเข้าในราชอาณาจักร จำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายสินค้า… หรือสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นตามความในมาตรา 273หรือมาตรา 274 ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ แสดงว่าการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรเป็นการกระทำอันเป็นความผิดในทางอาญาและผู้กระทำจักต้องรับโทษตามที่ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติไว้ในมาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ดังกล่าวมาข้างต้น การที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังมีบทบัญญัติในมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 ซึ่งบัญญัติให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้นเป็นความผิดทางอาญาเป็นเพราะเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรจะได้รับความคุ้มครองสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเฉพาะในเขตพื้นที่ภายในราชอาณาจักรเท่านั้น ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรแต่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักร ไม่อาจฟ้องคดีเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนหรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 46 วรรคแรกเว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีบุคคลอื่นเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 46 วรรคสอง ส่วนบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ซึ่งออกมาใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอมได้ด้วย แม้พระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 110(1) ประกอบด้วยมาตรา 108 มิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนนอกราชอาณาจักรไว้เช่นนั้น กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เมื่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะซึ่งใช้บังคับในภายหลัง มาตรา 3 วรรคแรก บัญญัติให้ยกเลิกเฉพาะพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2504 เท่านั้น มิได้บัญญัติให้ยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ด้วย ทั้งไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็นบทกฎหมายซึ่งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 110(1)ประกอบด้วยมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมิได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 การที่จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้ากระเป๋าที่มีเครื่องหมายการค้าซึ่งมีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรจึงเป็นความผิดและต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 273 ตามฟ้องของโจทก์ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275ประกอบด้วยมาตรา 273 ลงโทษปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงปรับ 2,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ของกลางริบ