คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 8 กันยายน 2547 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2556 และมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 24 กันยายน 2556 จนถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้นทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์รับว่าเป็นหนี้ค่าสินค้าโจทก์โดยตกลงผ่อนชำระเป็นงวดๆ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิด จำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้หนี้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 3 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1077 (2) และมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากยังอยู่ในเวลาสองปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1087

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 150,927.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 102,510 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 150,927.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 102,510 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ (ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง)
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2547 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2556 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ระหว่างวันที่ 24 กันยายน 2556 ถึงปัจจุบัน มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้นทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์รับว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าสินค้าและดอกเบี้ย 157,441.36 บาท ตกลงชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 102,510 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ละเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 2,500 บาท ภายในวันที่ 25 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดส่วนที่ยังคงค้างชำระทั้งหมดและยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่งวดที่ 2 ซึ่งครบกำหนดชำระวันที่ 25 สิงหาคม 2556 โจทก์มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์อีก 7,500 บาท
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1087 บัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ ฉะนั้นเมื่อขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์ แม้หนี้ดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 3 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนก็ตาม ตามมาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1077 (2) และมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงได้ความว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ และออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ยังอยู่ในเวลาสองปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์เช่นกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1087 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินและค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share