คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7336/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ผู้รับการประเมินจะนำคดีมาฟ้องว่า การประเมินไม่ถูกต้องตามมาตรา 31ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 39 ก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาล โจทก์ผู้รับการประเมินจะต้องชำระค่าภาษีก่อนมิฉะนั้นจะเป็นฟ้องที่รับไว้พิจารณาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า การประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 2ตามใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) เล่มที่ 1 เลขที่ 17 เมื่อวันที่5 เมษายน 2536 และคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ 1 ตามใบแจ้งคำชี้ขาด(ภ.ร.ด.11) เล่มที่ 1 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2536 ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้เพิกถอนทั้งหมด
ศาลภาษีอากรกลางเห็นว่า ทนายโจทก์แถลงรับว่า โจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษีตามคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาก่อนยื่นฟ้อง จึงมีคำสั่งว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่รับไว้พิจารณาไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475มาตรา 39 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 38 จึงไม่รับคำฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า แม้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 25 จะให้สิทธิโจทก์ผู้รับประเมินซึ่งไม่พอใจในการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จะขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ และเมื่อมีคำชี้ขาดแล้วโจทก์ผู้รับประเมินไม่พอใจในคำชี้ขาดมีสิทธิจะนำคดีไปสู่ศาล เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง ภายในสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตามมาตรา 31 ก็ตาม แต่มาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีนำค่าภาษีไปชำระต่อพนักงานเก็บภาษี ณ สำนักงานเทศบาลสำนักงานสุขาภิบาล ที่ว่าการอำเภอที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นนั้นตั้งอยู่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันรับแจ้งการประเมิน” และมาตรา 39 แห่งบทบัญญัติเดียวกัน บัญญัติไว้ว่า”ถ้ามีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลตามความในมาตรา 31 ท่านห้ามมิให้ศาลประทับเป็นฟ้องตามกฎหมายเว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระ เพราะเวลาซึ่งท่านให้ไว้ตามมาตรา 38 นั้นได้สิ้นไปแล้ว หรือจะถึงกำหนดชำระระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล” จากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นชัดอยู่ในตัวว่า ก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาลโจทก์ผู้รับประเมินจะต้องชำระค่าภาษีก่อน เมื่อโจทก์ไม่ชำระค่าภาษีตามที่จำเลยทั้งสองประเมินไว้ก่อนฟ้องเช่นนี้ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ศาลจะรับไว้พิจารณาไม่ได้
พิพากษายืน

Share