แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำขอท้ายคำฟ้อง โจทก์บรรยายประสงค์จะให้ศาลพิพากษาว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลลี้อำเภอลี้จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2533 เฉพาะที่เวนคืนที่ดินโจทก์ ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายคำฟ้องไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์และจำเลยทั้งสี่ไม่มีสิทธิที่จะเวนคืนที่ดินนั้น เป็นคำขอที่บทกฎหมายดังกล่าว มิได้มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกคืนซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ก็ให้อำนาจเฉพาะบุคคลที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายเท่านั้นที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ตามคำบรรยายคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่โต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล สังกัดจำเลยที่ 3 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นเลขาธิการ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกระทรวงโดยมีจำเลยที่ 4 เป็นรัฐมนตรีว่าการ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2533 ส่วนจำเลยที่ 4เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับดังกล่าวข้างต้นระหว่างปี พ.ศ. 2521 ถึง พ.ศ. 2527 โจทก์ได้ดำเนินการซื้อที่ดินจากราษฎรบริเวณบ้านปู ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนรวม 38 แปลง หลังจากโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพร้อมกับก่อสร้างโรงงานผลิตถ่านเซมิโค๊กและถ่านอัดก้อนเพื่อจำหน่ายและโจทก์ได้ยื่นคำขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ลิกไนต์มาเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานผลิตถ่านเซมิโค๊กและถ่านอัดก้อนของโจทก์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2527 รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลลี้ และตำบลดงคำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2527 มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปสำรวจในที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นแหล่งสะสมแร่ลิกไนต์ เพื่อประโยชน์ในการเวนคืนต่อไป ก่อนที่พระราชกฤษฎีกาฉบับข้างต้นจะสิ้นผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2530 คณะรัฐมนตรีได้กำหนดอำนาจและหน้าที่จำเลยที่ 1 ขึ้นใหม่โดยให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เพียงศึกษาความต้องการและวางโครงการตลอดจนศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาและใช้ถ่านหินลิกไนต์ในบริเวณที่จำเลยที่ 1 ได้รับประทานบัตรหรืออาชญาบัตรไปแล้ว และมีหน้าที่ประสานและเสนอนโยบายในการพัฒนาเท่านั้น ซึ่งเท่ากับจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่สำรวจหรือทำเหมืองลิกไนต์ในพื้นที่ที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับอาชญาบัตรหรือประทานบัตรอีกต่อไปอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2530 ครั้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2532ซึ่งพระราชกฤษฎีกาฉบับข้างต้นครบกำหนดลงจำเลยที่ 1 เสนอรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลลี้ และตำบลดงคำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2532 ขึ้นมาอีก 1 ฉบับมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี เป็นการต่ออายุพระราชกฤษฎีกาฉบับข้างต้น ต่อมาเดือนสิงหาคม 2533 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนพ.ศ. 2533 โดยมีเหตุผลในการใช้พระราชบัญญัติว่าเนื่องจากสำนักงานพลังงานแห่งชาติได้ทำการสำรวจที่ที่จะต้องเวนคืนเพื่อใช้ในระบบการผลิต และการจำหน่ายพลังงานจากแร่ลิกไนต์ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลลี้ตำบลดงคำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2532 เสร็จแล้วสมควรดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับดังกล่าว มีอาณาเขตครอบคลุมถึงที่ดินของโจทก์รวม 38 แปลงดังกล่าวข้างต้นด้วย เมื่อเดือนตุลาคม 2533 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอประทานบัตรต่อสำนักงานทรัพยากรธรณี เพื่อขอทำเหมืองแร่บริเวณที่ดินที่ติดกับที่ดินโจทก์จำนวน 2 แปลง จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ได้ แต่กลับนำที่ดินดังกล่าวให้บริษัทเอกชนเข้าทำ โดยจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทเอกชนเมื่อเหมืองแร่มีจำนวนลดน้อยลง ประกอบกับบริษัทเอกชนเห็นว่าที่ดินโจทก์มีแหล่งลิกไนต์อุดมสมบูรณ์ บริษัทเอกชนจึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 เร่งรัดดำเนินการขอออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลลี้และตำบลดงคำ อำเภอลี้จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2527 และ พ.ศ. 2532 รวม 2 ฉบับกับเร่งรัดให้ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2533 เพื่อที่จะเอาที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้นไปให้บริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 เช่าทำประโยชน์ขุดและจำหน่ายแร่ต่อไป ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การออกพระราชกฤษฎีกาก็ดี การออกพระราชบัญญัติก็ดีล้วนเป็นการออกกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสียสิทธิครอบครอง เสียสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดินและเสียสิทธิในการขอออกประทานบัตรแต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1กลับนำที่ดินของโจทก์ทีได้เวนคืนไปนั้น ให้บริษัทเอกชนเช่าทำเหมืองแร่เป็นการขัดต่อเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติและมิใช่เพื่อประโยชน์และวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ในการจัดหาแหล่งพลังงานแต่อย่างใดทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2530 กำหนดหน้าที่จำเลยที่ 1 ให้มีหน้าที่เพียงศึกษาความต้องการและวางโครงการตลอดจนศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาและใช้ถ่านหินลิกไนต์เท่านั้นการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนท้ายพระราชบัญญัตินั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเพื่อให้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2533ไม่มีผลใช้บังคับแก่ที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนพ.ศ. 2533 เฉพาะที่เวนคืนที่โจทก์ทั้ง 38 แปลง ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์และจำเลยทั้งสี่ไม่มีสิทธิที่จะเวนคืนที่ดินด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรับคดีโจทก์ไว้พิจารณานั้นเห็นว่าคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายคำขอประสงค์จะให้ศาลพิพากษาว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลลี้ อำเภอลี้จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2533 เฉพาะที่เวนคืนที่ดินโจทก์ทั้ง 38 แปลงตามแผนที่สังเขป เอกสารท้ายคำฟ้องไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์ และจำเลยทั้งสี่ไม่มีสิทธิที่จะเวนคืนที่ดินนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนพ.ศ. 2533 ซึ่งมีผลใช้บังคับกับที่ดินของโจทก์ทั้ง 38 แปลง ดังนั้นคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำขอที่กฎหมายดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกคืนซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ก็ให้อำนาจเฉพาะบุคคลที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายเท่านั้น ที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ตามคำบรรยายคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่โต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ปฏิเสธจะรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน