คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1604/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นศัลยแพทย์ตกแต่ง เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เจ้าของคลีนิค ทำศัลยกรรมตกแต่งจมูกของโจทก์ด้วยความประมาท เลินเล่อเป็นเหตุให้จมูกอักเสบและมีเลือดคั่งที่หน้าผากต้องรักษา ประมาณ 2 เดือนเศษ ดังนี้ จำเลยทั้งสองต้องใช้ค่าเสียหายในการ ที่โจทก์เจ็บปวดทรมานค่าขาดประโยชน์ในการทำมาหาได้ และ ค่ารักษาพยาบาลจากแพทย์อื่น

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 25,000 บาท โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2523 จำเลยที่ 2 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ทำศัลยกรรมตกแต่งจมูกของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จมูกของโจทก์อักเสบเป็นหนองและมีเลือดคั่งที่หน้าผาก จำเลยที่ 2 ได้เจาะเลือดคั่งที่หน้าผาก ฉีดยาและบีบหนองที่ดั้งจมูกไหล ทั้งผ่าตัดเอาแผ่นพลาสติกที่เอาออกไม่หมดออก แต่รักษาจมูกที่อักเสบไม่หาย เกิดบวมและหนองแตก โจทก์ต้องไปให้นายแพทย์ทายาทรักษาจึงหาย โจทก์อักเสบบวมเจ็บปวดอยู่ประมาณ 5 เดือน ได้รับทุกขเวทนาคิดเป็นค่าเสียหาย 40,000 บาท ระหว่าง 5 เดือนนั้นไม่ได้ประกอบอาชีพตามปกติ ทำให้ขาดรายได้ 40,000 บาท

จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ทำศัลกรรมตบแต่งจมูกให้โจทก์แล้ว ปรากฏว่าจมูกของโจทก์บวมจึงผ่าตัด ต่อมาคล้ายกับมีฝีที่ดั้งจมูกของโจทก์จำเลยที่ 2 ก็เจาะเอาหนองออก โจทก์ได้มาให้จำเลยที่ 2 รักษาเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2523 ก็ขาดการติดต่อไป ทราบว่าโจทก์ไปหาแพทย์อื่น

มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์สมควรได้รับค่าเสียหายในการที่เจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน 20,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ในการทำมาหาได้ 20,000 บาทตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ ปรากฏตามคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำศัลยกรรมตกแต่งจมูกของโจทก์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2523 จมูกเกิดเป็นหนองอักเสบและเลือดคั่งที่หน้าผาก จำเลยที่ 2 ต้องบีบหนองและผ่าตัด ต่อมาวันที่ 5 พฤศจิกายน 2523 โจทก์ไปให้นายแพทย์คเนศ แวววิจิตร ตรวจ นายแพทย์คเนศให้ยารับประทานและแนะนำให้โจทก์กลับไปหาแพทย์คนเดิม โจทก์กลับไปให้จำเลยที่ 2 ผ่าตัดอีก แต่จมูกยังอักเสบและหนองแตกออกมาอีก โจทก์จึงให้นายแพทย์ทายาทรักษานานประมาณ 2 สัปดาห์ก็หาย ซึ่งต้องคำกับจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์มารักษากับจำเลยที่ 2 ครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายนแล้วขาดการติดต่อไป ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์อักเสบเจ็บปวดอยู่ประมาณ 2 เดือนเศษ มิใช่ประมาณ 5 เดือนตามฟ้อง เมื่อพิเคราะห์บาดแผลของโจทก์ที่ปรากฏตามรูปถ่ายหมาย จ.2 ถึง จ.4 ประกอบกับคำโจทก์ที่ว่าโจทก์ยังได้เดินทางไปต่างจังหวัด และโจทก์รักษาบาดแผลอยู่นานประมาณ 2 เดือนเศษ เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในการที่โจทก์เจ็บปวดทรมานเป็นเงิน 10,000 บาท เป็นจำนวนที่สมควรแล้ว ส่วนค่าขาดประโยชน์ในการทำมาหาได้นั้น โจทก์เบิกความว่าโจทก์เป็นลูกจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดโชติพงษ์ก่อสร้าง มีรายได้เดือนละหนึ่งหมื่นบาท และมีรายได้จากการค้าพลอยประมาณเดือนละสี่ห้าพันบาท ก็มีแต่โจทก์ผู้เดียวเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องรักษาตัวอยู่ไม่สามารถไปไหนมาไหนตลอดเวลา กลับยังได้ความตามคำโจทก์ว่าโจทก์ยังเดินทางไปต่างจังหวัดได้ แสดงว่าโจทก์ยังสามารถประกอบธุรกิจการงานได้บ้าง ดังนี้ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ 10,000 บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไข ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share