แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยและศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ต่อมาโจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับให้จำเลยจัดการจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมดังกล่าว คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน คือทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่กรณีจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 มิให้โจทก์รื้อร้องฟ้องในประเด็นตามคำขอท้ายฟ้องในคดีนี้ซึ่งโจทก์อาจมีคำขอได้อยู่แล้วในคดีก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้เคยฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้พิพากษาว่าทางในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางภารจำยอม ศาลได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ว่าทางพิพาทตกเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสิทธิในภารจำยอมโดยอ้างว่านอกคำขอท้ายฟ้อง โจทก์จึงต้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจัดการจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมตามคำพิพากษาในคดีก่อน ถ้าจำเลยไม่ยอมปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้ศาลเรียกโฉนดจากจำเลยส่งให้เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อจดทะเบียนสิทธิดังกล่าวด้วย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในประเด็นที่พิพาทต่อศาลแพ่งตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5007/2518 โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการฟ้องซ้ำ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้เคยพิพาทกันมาแล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5007/2518 ในคดีดังกล่าวมีประเด็นว่า ทางพิพาทแนวลูกศรสีแดงตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นทางภารจำยอมหรือไม่ซึ่งคดีนั้นศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าทางพิพาทแนวลูกศรเป็นทางภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ คำขอของโจทก์ในคดีนี้ที่ให้จำเลยทั้งสองจัดการจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัย “เหตุสีแดง” อย่างเดียวกันกับในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5007/2518 กล่าวคือ ทางพิพาทแนวลูกศรสีแดงเป็นทางภารจำยอมหรือไม่ เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5007/2518ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว โจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีนี้ก็คือโจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้จะต้องอาศัยเหตุอย่างเดียวกับเหตุในคดีก่อน กรณีจึงต้องห้ามมิให้โจทก์รื้อร้องฟ้องในประเด็นตามคำขอท้ายฟ้องในคดีนี้ซึ่งโจทก์อาจมีคำขอได้อยู่แล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5007/2518ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
พิพากษายืน