คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8310/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 78/2 ไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการที่วางหลักประกันโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไว้เป็นพิเศษ ความรับผิดของโจทก์สำหรับสินค้าเครื่องจักรที่ไม่ได้รับอนุมัติให้ยกเว้นภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับผู้นำเข้าที่วางหลักประกันอากรขาเข้าอื่น กล่าวคือ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้เกิดขึ้นเมื่อโจทก์วางหลักประกันอากรขาเข้า เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเวลาที่โจทก์วางหลักประกันอากรขาเข้า โจทก์คงนำเงินไปชำระค่าภาษีอากรภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมิน จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรครบถ้วนในกำหนดเวลาตามมาตรา 78/2 โจทก์จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) และรับผิดชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนตุลาคม 2550 ตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม (กรณีวางประกัน) เลขที่ กค.1 – 3 – 02006 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2551 เพิกถอนหรือแก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.5 ชบ 2/9/2552 ให้จำเลยคืนเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม 153,426 บาท และเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม 18,411.12 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 171,837.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (วันที่ 30 มิถุนายน 2551) ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 9 เดือน 7 วัน คิดเป็นดอกเบี้ย 9,916.40 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 181,753.55 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับถูกต้องหรือไม่ และมีเหตุที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้มากกว่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 78/2 บัญญัติว่า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการนำเข้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) การนำเข้านอกจากที่อยู่ในบังคับตาม (2) (3) หรือ (4) ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาเข้าวางหลักประกันอากรขาเข้า หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาเข้า เว้นแต่กรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาเข้า หรือได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการที่วางหลักประกันโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไว้เป็นพิเศษอย่างไร ดังนั้น ความรับผิดของโจทก์สำหรับสินค้าที่พิพาทจึงเกิดขึ้นเมื่อโจทก์วางหลักประกันอากรขาเข้า เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเวลาที่โจทก์วางหลักประกันขาเข้าในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 โจทก์คงชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมิน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรจนครบถ้วนในกำหนดเวลาตามมาตรา 78/2 อันจะเป็นเหตุที่ทำให้ไม่อาจประเมินเบี้ยปรับได้ดังที่โจทก์อ้าง และกรณีของโจทก์ได้นำเข้าสินค้าโดยวางหนังสือค้ำประกันธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นหลักประกันการชำระค่าภาษีอากรในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โจทก์จึงยังมิได้ชำระค่าอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มดังเช่นกรณีของผู้ประกอบการรายอื่น อันเป็นประโยชน์แก่โจทก์และเป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์ที่เลือกใช้วิธีการเช่นนี้แล้ว ทั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังได้พิจารณาลดเบี้ยปรับแก่โจทก์คงเหลือเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย กรณีไม่มีเหตุสมควรลดเบี้ยปรับแก่โจทก์ให้มากกว่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัย ส่วนเงินเพิ่มตามการประเมินยังไม่มีเหตุอันสมควรให้งดหรือลดได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share