แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญารถขนส่งสินค้ามีผลผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นเวลา 3 ปี โดยอัตราค่าขนส่งยึดตามตารางกำหนดราคาน้ำมันแนบท้ายสัญญา ซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของสัญญา การที่จำเลยปรับเปลี่ยนอัตราค่าขนส่งโดยจัดทำช่วงราคาน้ำมันขึ้นใหม่จากเดิมปรับทุกช่วงราคา 2 บาท ต่อลิตร เป็นปรับทุกช่วงราคา 3.50 บาท ต่อลิตร ย่อมทำให้โจทก์เสียหาย และข้อตกลงในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงใดให้จำเลยปรับเปลี่ยนอัตราค่าขนส่งให้แตกต่างจากอัตราค่าขนส่งแนบท้ายสัญญาได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย การที่จำเลยขอยุติสัญญารถขนส่งสินค้าจึงไม่สามารถกระทำได้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 14,027,055.73 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยไม่ยื่นคำให้การแก้คดีภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบฝ่ายเดียว
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยมาศาลและยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลย ศาลชั้นต้นไม่มีคำสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว เนื่องจากเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาถือได้ว่าอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยฉบับดังกล่าว เป็นคำโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน (ค่าเสียหาย) 2,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 เมษายน 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ (เท่า) ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลย
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามอัตราและวันที่ศาลชั้นต้นกำหนด นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่จำเลยเสียเกินมาเป็นเงิน 2,752 บาท แก่จำเลย กับให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งฉบับลงวันที่ 25 กันยายน 2558 ของจำเลยจำนวน 200 บาท แก่จำเลยด้วย ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ขนสินค้าประเภทแป้งสาลีเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยกำหนดให้ขนส่งสินค้าแป้งสาลีขนาด 22.5 กิโลกรัมต่อถุง คิดค่าจ้างตามระยะทาง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และประเภทของรถบรรทุกที่ใช้ขนส่ง ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2558 จำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญารถขนส่งสินค้ากับโจทก์ ส่วนโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ทวงถามค่าเสียหายและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ได้ตรวจสำนวนแล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องยื่นคำให้การแก้คดี นายเอกนรินทร์ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การจำเลยออกไปถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 โดยอ้างเหตุว่า ทนายจำเลยเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายความและเพิ่งได้รับสำนวนคดีนี้จากผู้บริหารของบริษัทจำเลย ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของทนายจำเลยแล้วได้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ขยายระยะเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การได้ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2558 โดยทนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อที่ท้ายคำร้องในหน้าแรกว่า “ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว” ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันกับที่ทนายจำเลยยื่นคำร้อง จึงต้องถือว่าทนายจำเลยทราบคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยชอบแล้ว ที่ทนายจำเลยเบิกความในชั้นไต่สวนคำร้องอ้างว่า จำเลยไม่มีเจตนาหรือจงใจจะไม่ยื่นคำให้การ แต่เกิดจากความผิดหลงและเข้าใจคลาดเคลื่อนของทนายจำเลย เพราะทนายจำเลยไม่ได้มาตรวจสำนวนคดี แต่ได้สอบถามเกี่ยวกับคำสั่งศาลชั้นต้นทางโทรศัพท์ (จากเจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้น) และได้รับแจ้งว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นคำให้การได้ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ตามที่ทนายจำเลยระบุในคำร้อง เห็นว่า ทนายจำเลยกล่าวอ้างแบบลอย ๆ ว่าได้โทรศัพท์สอบถามเกี่ยวกับคำสั่งศาล แต่ทนายจำเลยไม่ได้ระบุว่าสอบถามกับเจ้าหน้าที่ศาลผู้ใด หากมีการโทรศัพท์สอบถามจริง ทนายจำเลยต้องสอบถามว่า ติดต่อกับเจ้าหน้าที่คนใด ต้องสอบถาม ชื่อ-นามสกุล ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น การที่ทนายจำเลยไม่สามารถระบุว่าได้โทรศัพท์ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ศาลคนใด แสดงว่าทนายจำเลยไม่ได้โทรศัพท์สอบถามเรื่องวันนัด การที่ทนายจำเลยไม่ไปตรวจสำนวนศาลเรื่องวันนัดขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นคำให้การ ถือว่าเป็นความผิดของทนายจำเลยที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เป็นความผิดของทนายจำเลย มิใช่เป็นความผิดของจำเลย จำเลยไม่น่าจะต้องรับผลจากความผิดพลาดของทนายจำเลย เห็นว่า จำเลยได้ตกลงมอบหมายให้ทนายความจำเลยดำเนินการแทนจำเลย ตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ถือว่าทนายจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยตามกฎหมาย ดังนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดร่วมกับทนายจำเลย เมื่อทนายจำเลยผิดพลาดเรื่องวันนัดถือว่าจำเลยต้องผิดพลาดเรื่องดังกล่าวไปด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจของศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า ที่จำเลยมีหนังสือขอยุติสัญญารถขนส่งสินค้าไปยังโจทก์เป็นการชอบด้วยข้อสัญญาแล้วหรือไม่ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า หลังจากโจทก์ทำสัญญารถขนส่งสินค้าดังกล่าวกับจำเลยแล้ว โจทก์ได้ดำเนินการขนส่งสินค้าแป้งสาลีให้จำเลย และจำเลยได้ชำระค่าขนส่งให้โจทก์เรื่อยมาโดยจำเลยได้หักค่าขนส่งเป็นค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่งกรมสรรพากรตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย รวม 49 ฉบับ ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2557 จำเลยได้ส่งหนังสือจัดทำตารางกำหนดค่าขนส่งสินค้าขึ้นมาใหม่ ซึ่งแตกต่างจากข้อสัญญาเดิม โดยจำเลยกำหนดช่วงราคาน้ำมัน (ดีเซล) จากเดิมปรับช่วงราคาละ 2 บาทต่อลิตร เปลี่ยนเป็นปรับทุกช่วงราคาละ 3.50 บาทต่อลิตร และปรับค่าขนส่งลดลงจากเดิมด้วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาที่ทำกันไว้ หากราคาน้ำมัน (ดีเซล) อยู่ที่ราคา 28.50 บาทต่อลิตร โจทก์จะได้รับค่าขนส่ง 7.20 บาท ต่อแป้งสาลี 1 ถุง สำหรับรถบรรทุกสี่ล้อในระยะทางไม่เกิน 30 กิโลเมตร แต่ตามหนังสือจัดทำตารางกำหนดค่าขนส่งที่จำเลยจัดทำขึ้นมาใหม่ดังกล่าว โจทก์จะได้รับค่าขนส่งสินค้าแป้งสาลีเพียง 6.40 บาทต่อถุง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างมาก โจทก์ได้มีหนังสือทักท้วงไปยังจำเลยแล้ว แต่จำเลยกลับมีหนังสือฉบับลงวันที่ 26 มกราคม 2558 ขอยุติสัญญารถขนส่งสินค้ากับโจทก์และไม่ให้โจทก์ขนส่งสินค้าอีกต่อไป จำเลยฎีกาอ้างว่าเมื่อจำเลยทำสำเนาตารางกำหนดค่าขนส่งตามราคาน้ำมันส่งไปให้โจทก์ นายพนัส ผู้จัดการทั่วไปของโจทก์ ลงชื่อยินยอมจึงมีผลผูกพันโจทก์ เห็นว่า นายพนัส เป็นเพียงผู้จัดการทั่วไปของโจทก์ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ คือ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนโจทก์ ดังนั้น การกระทำของนายพนัส จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ต่อมานายพนัสในฐานะผู้จัดการทั่วไปของโจทก์ ได้มีหนังสือถึงจำเลยเรื่องดังกล่าวโดยระบุว่าขอให้จำเลยคงอัตราเดิมในสัญญาไปจนถึงวันหมดอายุสัญญาวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยมีการส่งตัวแทนมาเจรจากันระหว่างโจทก์กับจำเลย แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้จำเลยจึงได้มีหนังสือขอยุติสัญญา ได้ตรวจดูสัญญารถขนส่งสินค้า เห็นว่า สัญญารถขนส่งสินค้ามีผลผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นเวลา 3 ปี โดยอัตราค่าขนส่งยึดตามตารางกำหนดราคาน้ำมันแนบท้ายสัญญา ซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของสัญญา การที่ต่อมาจำเลยปรับเปลี่ยนอัตราค่าขนส่งโดยจัดทำช่วงราคาน้ำมันขึ้นใหม่จากเดิมปรับทุกช่วงราคา 2 บาทต่อลิตร เป็นปรับทุกช่วงราคา 3.50 บาทต่อลิตร ย่อมทำให้โจทก์เสียหาย และจากข้อตกลงในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงใดให้จำเลยสามารถปรับเปลี่ยนอัตราค่าขนส่งให้แตกต่างจากอัตราค่าขนส่งแนบท้ายสัญญาได้ เมื่อจำเลยต้องการปรับลดราคาค่าขนส่งแต่โจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย การที่จำเลยขอยุติสัญญารถขนส่งสินค้าจึงไม่สามารถกระทำได้ เมื่อจำเลยขอยุติสัญญาโดยไม่มีสิทธิทำได้ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ หรือไม่ เพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยมาแล้วเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญารถขนส่งสินค้าอีกต่อไป โดยขอยุติสัญญาดังกล่าว โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 และมาตรา 391 วรรคสุดท้าย โดยโจทก์ไม่จำต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า โจทก์ขาดรายได้จากการขนส่งสินค้า 20 งวด โดยปกติโจทก์มีรายได้เฉลี่ยงวดละ 701,352.79 บาท รวมเป็นเงิน 14,027,055.73 บาท เห็นว่า แม้สัญญารถขนส่งสินค้า ข้อสัญญาข้อที่ 12 จะระบุว่าผู้ว่าจ้างตกลงชำระค่าจ้างให้กับผู้รับจ้าง 2 ครั้งต่อเดือน ก็ตาม แต่ค่าขนส่งก็ขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าในแต่ละเดือนที่จำเลยจะมีให้โจทก์ขนส่งว่ามีมากน้อยเพียงใด การที่โจทก์คำนวณค่าเสียหายจากรายได้ในแต่ละเดือนที่โจทก์เคยได้รับจากจำเลยนั้น กรณีดังกล่าวไม่แน่นอนว่าระยะเวลาประมาณ 10 เดือน ที่เหลืออยู่ตามสัญญา หากสัญญาไม่ยุติลง โจทก์จะมีรายได้เช่นนั้นทุกเดือนหรือไม่และจำเลยจะมีสินค้าให้โจทก์ไปส่งทุกเดือนหรือไม่ ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามที่อ้าง ประกอบกับการคิดค่าขนส่งที่โจทก์อ้างโจทก์ยังมิได้คิดถึงค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องนำมาหักจากรายได้ค่าขนส่ง เช่น ค่าน้ำมัน ค่าจ้างพนักงานขับรถยนต์ ค่าซ่อมบำรุงรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่ง เป็นต้น ค่าเสียหายที่โจทก์นำสืบจึงไม่ชัดเจนว่าค่าเสียหายที่แท้จริงมีเพียงใด ส่วนที่จำเลยฎีกาก็ไม่ระบุว่าค่าเสียหายมีเพียงใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ค่าเสียหายเดือนละ 100,000 บาท สำหรับระยะเวลาขนส่งสินค้าที่เหลือตามสัญญาอีก 10 เดือน รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่ในชั้นฎีกาของจำเลยมีเพียง 1,000,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 20,000 บาท แต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 22,408 บาท กับค่าขึ้นศาลในอนาคต 100 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลที่เกินมารวม 2,508 บาท แก่จำเลย
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ