แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่ว่า สัญญาร่วมลงทุนและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นไม่ใช่สัญญาร่วมลงทุน แต่เป็นลักษณะของการกู้ยืมเงินและการคิดดอกเบี้ย จึงเป็นนิติกรรมอำพราง ตกอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ที่ให้ศาลมีอำนาจในการวินิจฉัยเท่านั้น คณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปรับลดอัตราค่าตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี เป็นอัตราค่าตอบแทนร้อยละ 6 ต่อปี นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความตามข้อต่อสู้ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสี่รับฟังไม่ได้ตามที่ต่อสู้ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสี่จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน อันเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริง ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
บันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาร่วมทุนและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น ข้อ 12 เป็นเรื่องคำรับรองของผู้ถือหุ้นหลัก อันได้แก่ ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 และข้อตกลงซื้อหุ้นคืนเป็นข้อตกลงระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 กับผู้ร้องโดยตรง ผู้คัดค้านที่ 1 หาได้เกี่ยวข้องหรือรับที่จะซื้อหุ้นคืนจากผู้ร้องไม่ การที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านที่ 1 ร่วมรับผิดกับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ด้วย จึงเป็นคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาท ซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ แต่ศาลชั้นต้นกลับไม่ทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 (4) ย่อมเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลจังหวัดธัญบุรีพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการหมายเลขดำที่ 10/2553 หมายเลขแดงที่ 87/2558 ของสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม กับให้ผู้คัดค้านทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้านทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 4 เป็นนิติบุคคล โดยมีผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 4 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 ผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งสี่เข้าทำสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น (ต่อไปเรียกว่าสัญญาร่วมลงทุน) ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 จัดให้มีการเพิ่มทุน 25,000,000 บาท โดยการออกเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน 2,500,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท โดยเสนอขายแก่ผู้ร้อง 2,499,999 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท รวมเป็นเงิน 24,999,990 บาท เมื่อรวมกับหุ้นสามัญ 1 หุ้น ที่ผู้ร้องถืออยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งสิ้น 2,500,000 หุ้น มีข้อตกลงให้ผู้ร้องมีสิทธิขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดคืนแก่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 สัญญาดังกล่าวระบุการระงับข้อพิพาทให้ระงับข้อพิพาทโดยเสนอข้อพิพาทแก่อนุญาโตตุลาการ
ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 ผู้คัดค้านทั้งสี่กับผู้ร้องทำบันทึกตกลงแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุน โดยแก้ไขข้อตกลงในการซื้อหุ้นคืนสรุปใจความว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงซื้อหุ้นจำนวน 2,500,000 หุ้น คืนจากผู้ร้อง โดยการทยอยซื้อคืนให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 กันยายน 2552 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ในราคาที่ผู้ร้องเข้าร่วมลงทุนบวกด้วยจำนวนเงินที่รวมกันแล้วทำให้อัตราผลตอบแทนของผู้ร้องเท่ากับร้อยละ 6 ต่อปี คำนวณจนถึงวันที่ชำระเงินค่าซื้อหุ้นคืนในแต่ละงวด ทั้งนี้ โดยคำนวณรวมถึงเงินปันผลที่ได้รับในระหว่างการลงทุนด้วย หากผิดนัดไม่ซื้อหุ้นและชำระค่าซื้อหุ้นงวดใดงวดหนึ่ง หรือชำระเพียงบางส่วน ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงชำระค่าปรับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินที่ต้องชำระนับแต่วันที่ร่วมลงทุน ส่วนเงื่อนไขอื่น ๆ ตามสัญญายังมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม เมื่อครบกำหนด ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ซื้อหุ้นคืนเพียง 100,000 หุ้น ยังคงเหลือหุ้นที่ต้องซื้อคืนอีก 2,400,000 หุ้น ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งผู้คัดค้านทั้งสี่แล้ว แต่ผู้คัดค้านทั้งสี่เพิกเฉย หลังเกิดข้อพิพาท ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทไปยังสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2558 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันหรือแทนกันรับโอนหุ้น 2,400,000 หุ้น คืนจากผู้ร้องและชำระค่าหุ้นแก่ผู้ร้อง 24,000,000 บาท พร้อมผลตอบแทน (IRR) อัตราร้อยละ 6 ต่อปี นับแต่วันที่ผู้ร้องชำระค่าหุ้นจนถึงวันที่มีการชำระค่าหุ้นพร้อมผลตอบแทนครบถ้วน ทั้งนี้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด หากผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ดำเนินการ ให้ผู้คัดค้านทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 24,000,000 บาท พร้อมผลตอบแทน (IRR) อัตราร้อยละ 6 ต่อปี (IRR) นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ชำระเงินค่าหุ้น จนถึงวันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดและค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 24,000,000 บาท นับถัดจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด จนถึงวันที่ผู้คัดค้านทั้งสี่ชำระค่าเสียหายแก่ผู้ร้องครบถ้วน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสี่ในประเด็นแรกว่า สัญญาร่วมลงทุนและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นไม่ใช่สัญญาร่วมลงทุน แต่เป็นลักษณะของการกู้ยืมเงินและการคิดดอกเบี้ย จึงเป็นนิติกรรมอำพราง ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในส่วนของข้อสัญญาไม่เป็นธรรม เพราะพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ศาลมีอำนาจในการวินิจฉัยเท่านั้น และคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปรับลดอัตราค่าตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี เป็นอัตราค่าตอบแทนร้อยละ 6 ต่อปี นั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสี่ดังกล่าว ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความตามข้อต่อสู้ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 เพื่อให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้น แต่ผู้คัดค้านทั้งสี่กลับมิได้นำพยานเข้าสืบต่อสู้เพื่อให้ได้ความตามข้อคัดค้านของตน เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำเข้าสืบประกอบกับข้อคัดค้านแล้ว เห็นว่า ข้อคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสี่รับฟังไม่ได้ตามที่ต่อสู้ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสี่จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จึงเป็นอุทธรณ์ต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาตามอุทธรณ์ในประเด็นสุดท้ายว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกันหรือแทนกันกับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติม ข้อตกลงในการซื้อหุ้นคืน ซึ่งในข้อ 12 ที่ถูกยกเลิกและให้ใช้ข้อความใหม่ เป็นเรื่องคำรับรองของผู้ถือหุ้นหลัก (อันได้แก่ ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4) และข้อตกลงซื้อหุ้นคืนเป็นข้อตกลงระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 กับผู้ร้องโดยตรง ผู้คัดค้านที่ 1 หาได้เกี่ยวข้องหรือรับที่จะซื้อหุ้นคืนจากผู้ร้องไม่ การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ปฏิบัติผิดสัญญาโดยไม่รับซื้อหุ้นคืนจากผู้ร้องภายในกำหนดก็ดี หรือไม่ยอมซื้อคืนก็ดี ความรับผิดและการชดใช้ค่าเสียหายตามข้อตกลงย่อมตกแก่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 เท่านั้น การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านที่ 1 ร่วมรับผิดกับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ด้วย จึงเป็นคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาท ซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ แต่ศาลชั้นต้นกลับไม่ทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 (4) ย่อมเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น