คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องทั้งสามเข้าร่วมประชุมและทราบถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ของคณะอนุญาโตตุลาการมาโดยตลอด การประชุมในวันที่ 27 มีนาคม 2558 ผู้ร้องทั้งสามแถลงรับข้อเท็จจริงและแถลงไม่คัดค้านที่คณะอนุญาโตตุลาการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อพิพาทในคดีนี้มีข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยาน นอกจากนี้ คู่พิพาทมิได้ตกลงกันกำหนดอำนาจคณะอนุญาโตตุลาการไว้เป็นอย่างอื่น คณะอนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 และ 30 ให้อำนาจไว้ การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นไปตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่คู่พิพาทแถลงรับ ไม่ปรากฏว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ส่วนการที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทเสร็จเด็ดขาดโดยให้ยุติกระบวนพิจารณาตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 38 วรรคสอง (3) ก็เป็นอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่เห็นว่าสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนมีคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทได้ ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ของคณะอนุญาโตตุลาการจนกระทั่งมีคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทจึงเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย คำร้องของผู้ร้องทั้งสามไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ค) และ (2) (ก) (ข) ที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 57/2543 หมายเลขแดงที่ 74/2558 สถาบันอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้งว่า ผู้ร้องที่ 1 กับผู้ร้องที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและผู้ร้องที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ส่วนผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 มีวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีทางพิเศษด้วยวิธีใด ๆ ตลอดจนบำรุงรักษาทางพิเศษ ผู้ร้องทั้งสามได้รวมเข้ากันเป็นกิจการร่วมค้า มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการรับจ้างเหมาและก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) ใช้ชื่อว่า “กิจการร่วมค้า บีบีซีดี” เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2538 ผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านโดยนายศิวะ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง บริเวณเกาะกลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางนา – ตราด) โดยตกลงราคาจ้างเหมาซึ่งรวมถึงเงินกำไร ค่าภาษี ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นเงินจำนวน 25,192,950,000 บาท ซึ่งเรียกว่า ราคาคงที่ กำหนดแล้วเสร็จภายใน 42 เดือน นับจากวันที่ผู้คัดค้านมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ร้องทั้งสามเริ่มดำเนินการ ระหว่างสัญญามีการก่อสร้างของบริษัทอุบลสหธรรมขนส่ง (1983) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาของกรมทางหลวง ทำการก่อสร้างอยู่ในเขตทางเดียวกัน ส่งผลกระทบถึงการปฏิบัติงานของผู้ร้องทั้งสามและบริษัทอุบลสหธรรมขนส่ง (1983) จำกัด ต่อมาระหว่างวันที่ 6 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2541 ผู้ร้องทั้งสามชำระเงินชดเชยให้แก่บริษัทอุบลสหธรรมขนส่ง (1983) จำกัด จำนวน 44,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 ผู้คัดค้านมีหนังสือยืนยันที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องทั้งสามได้เบิกจ่ายให้แก่ผู้รับเหมาของกรมทางหลวงตามเงื่อนไขของสัญญา แต่ผู้คัดค้านไม่ดำเนินการ ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 ผู้ร้องทั้งสามเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม เรียกร้องให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 44,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คืนแก่ผู้ร้องทั้งสาม วันที่ 19 มีนาคม 2544 และวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้าน ปฏิเสธข้อเรียกร้องขอผู้ร้องทั้งสาม คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดประเด็นข้อพิพาท โดยความเห็นชอบของผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านว่า
1. คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจรับข้อพิพาทนี้ไว้พิจารณาหรือไม่
2. ผู้คัดค้านมีความรับผิดต้องชำระเงินจำนวน 44,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ร้องทั้งสามตามที่ผู้ร้องทั้งสามเรียกร้องเพียงใด
คณะอนุญาโตตุลาการโดยความเห็นชอบของผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านได้กำหนดกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการพร้อมนัดสืบพยานของผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้าน หลังจากสืบพยานผู้ร้องทั้งสามบางส่วนแล้ว วันที่ 27 มีนาคม 2546 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้าน คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านคณะอนุญาโตตุลาการต่อศาลชั้นต้น คณะอนุญาโตตุลาการให้รอการดำเนินกระบวนพิจารณาในข้อพิพาทดังกล่าว จนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา ระหว่างนั้น เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2549 ศาลฎีกามีคำพิพากษาฎีกาที่ 7277/2549 ระหว่างผู้ร้องทั้งสามกับผู้คัดค้าน ซึ่งพิพาทกันตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง ในเรื่องอื่นว่า การทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง ดังกล่าว ของผู้ร้องทั้งสาม ผู้ร้องทั้งสามใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนดังกล่าว เกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้าน ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2553 ศาลฎีกามีคำพิพากษาฎีกาที่ 2231 – 2233/2553 ให้ความเป็นอนุญาโตตุลาการของนายวัลลภ ประธานคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 57/2543 สิ้นสุดลง นายกนกได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการคนใหม่ และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2554 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำคัดค้านและขอให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายว่า ในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง ของผู้ร้องทั้งสามเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สัญญาดังกล่าวเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้านตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่อาจอาศัยสิทธิใด ๆ ตามสัญญาดังกล่าว และผู้คัดค้านก็ไม่มีภาระผูกพันใด ๆ ที่จะต้องรับผิดตามข้อเรียกร้องของผู้ร้องทั้งสามอันเนื่องมาจากสัญญาดังกล่าว คณะอนุญาโตตุลาการนัดประชุมเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ในวันดังกล่าว คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งดังต่อไปนี้ 1. คำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย ฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2554 สอบถามผู้ร้องแล้ว แถลงให้เป็นดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการ จึงมีคำสั่งให้รวมไว้พิจารณาในการทำคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการ 2. คำร้องขอเพิ่มเติมคำคัดค้าน ครั้งที่ 2 ฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2554 สอบถามผู้ร้องแล้ว แถลงไม่คัดค้าน จึงมีคำสั่งอนุญาต คณะอนุญาโตตุลาการได้สอบถามคู่พิพาททั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผ่านมาทั้งหมดว่าคู่พิพาททั้งสองฝ่ายเห็นชอบในการรับรองกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการที่ผ่านมาทั้งหมดหรือไม่ คู่พิพาททั้งสองฝ่ายแถลงว่าการพิจารณาเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น เพื่อให้เป็นไปอย่างรอบคอบและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขอระยะเวลาในการตัดสินใจ โดยขอให้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในนัดหน้า นัดพร้อมครั้งต่อไปวันที่ 27 มีนาคม 2558 เวลา 9.00 นาฬิกา ในวันนัดประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 คู่พิพาททั้งสองฝ่ายตกลงกันโดยความเห็นชอบของคณะอนุญาโตตุลาการ ดังนี้ 1. รับรองการดำเนินกระบวนพิจารณากำหนดประเด็นข้อพิพาท และการสืบพยานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกระบวนพิจารณาและการสืบพยานของคณะอนุญาโตตุลาการนี้โดยไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและสืบพยานใหม่ 2. หากมีการยื่นสำเนาเอกสารโดยที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่คัดค้านความถูกต้องของเอกสาร สำเนาเอกสารนั้น ให้รับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ 3. คู่พิพาททั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันให้ใช้ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ บังคับแก่การดำเนินการอนุญาโตตุลาการ เพื่อระงับข้อพิพาทนี้และให้อยู่ภายใต้การจัดการของสถาบันดังกล่าว ฝ่ายผู้ร้องทั้งสามแถลงยอมรับข้อเท็จจริงว่า ศาลฎีกาได้พิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ 7277/2549 ระหว่างผู้ร้องทั้งสามกับผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2549 ผู้ร้องที่ 3 ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 เป็นนิติบุคคลเดียวกันกับผู้ร้องที่ 3 ในข้อพิพาทนี้ และฝ่ายผู้ร้องได้ฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 721/2551 เรื่องลาภมิควรได้ คณะอนุญาโตตุลาการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อพิพาทในคดีนี้มีข้อเท็จจริงต่าง ๆ พอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานของฝ่ายผู้ร้องและผู้คัดค้าน ทั้งนี้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายแถลงไม่คัดค้าน นัดพร้อมคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อปรึกษาทำคำชี้ขาดในวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า ผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความคือ ผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่า สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง เกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีผลผูกพัน ดังนั้น ข้อเรียกร้องของผู้ร้องทั้งสามที่ขอให้คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินทดรองให้แก่ผู้ร้องทั้งสามที่ชำระเงินแทนผู้คัดค้านไปจำนวน 44,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง ดังกล่าว จึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้านที่จะต้องชำระเงินแทนตามข้อเรียกร้อง เมื่อได้ความข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว คณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่อาจชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินตามข้อเรียกร้องให้แก่ผู้ร้องทั้งสามได้ ประเด็นข้อพิพาทอื่นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยและมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องทั้งสาม ผู้ร้องทั้งสามได้รับสำเนาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ผู้ร้องทั้งสามว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ค) เนื่องจากไม่มีการแจ้งให้คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดรู้ล่วงหน้าโดยชอบถึงการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ คณะอนุญาโตตุลาการไม่ได้ดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ให้ถูกต้องตามลำดับเป็นการไม่ชอบ คณะอนุญาโตตุลาการมิได้ปฏิบัติตาม มาตรา 38 วรรคสอง (3) เรื่องการมีคำสั่งให้ยุติกระบวนพิจารณา หากเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป หรือไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ก) (ข) คดีนี้เมื่อผู้ร้องทั้งสามเสนอข้อพิพาทตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง ระหว่างผู้ร้องทั้งสามกับผู้คัดค้านต่อคณะอนุญาโตตุลาการตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการย่อมผูกพันคู่พิพาท ผู้ร้องทั้งสามจะให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม เท่านั้น โดยผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องอ้างว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 40 วรรคสาม (1) (ค) เนื่องจากไม่มีการแจ้งให้คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดรู้ล่วงหน้าโดยชอบถึงการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ก) (ข) ซึ่งมาตรา 40 วรรคสาม (1) (ค) และ (2) (ก) (ข) บัญญัติว่า “ให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ว่า…
(ค) ไม่มีการแจ้งให้คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดรู้ล่วงหน้าโดยชอบ ถึงการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ หรือบุคคลดังกล่าวไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการได้เพราะเหตุประการอื่น…
(2) มีกรณีปรากฏต่อศาลว่า
(ก) คำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการ
ได้ตามกฎหมาย หรือ
(ข) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”
นอกจากนี้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น วิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันหรือกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการนี้ให้รวมถึงอำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงด้วย” วรรคสาม บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งหมวดนี้ คณะอนุญาโตตุลาการอาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยพยานหลักฐานมาใช้โดยอนุโลม” และมาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้กำหนดว่าจะสืบพยานหรือฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ หรือจะดำเนินกระบวนพิจารณาโดยรับฟังเพียงเอกสารหรือพยานหลักฐานอื่นใดก็ได้” จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นได้ความว่า ในวันนัดประชุมวันที่ 2 และ 27 มีนาคม 2558 คู่พิพาทต่างเข้าร่วมประชุมตามที่ได้รับแจ้งทุกครั้ง ในการนัดประชุมวันที่ 2 มีนาคม 2558 คณะอนุญาโตตุลาการได้สอบถามฝ่ายผู้ร้องทั้งสามเกี่ยวกับคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายและคำร้องขอเพิ่มเติมคำคัดค้านของผู้คัดค้าน ฝ่ายผู้ร้องทั้งสามแถลงให้เป็นดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการและไม่คัดค้านคำร้องขอเพิ่มเติมคำคัดค้าน รวมทั้งสอบถามคู่พิพาทเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผ่านมาทั้งหมดโดยคณะอนุญาโตตุลาการชุดก่อนว่า คู่พิพาทเห็นชอบในการรับรองกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการที่ผ่านมาทั้งหมดหรือไม่ คู่พิพาทแถลงว่าการพิจารณาเกี่ยวกับการรับรองกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น เพื่อให้เป็นไปอย่างรอบคอบและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขอระยะเวลาในการตัดสินใจ โดยขอให้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในนัดหน้าและตกลงให้นัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 27 มีนาคม 2558 เวลา 9.30 นาฬิกา ถึงวันนัดคู่พิพาทมาประชุมตามนัด คู่พิพาทตกลงกันโดยความเห็นชอบของคณะอนุญาโตตุลาการ ดังนี้ 1. รับรองการดำเนินกระบวนพิจารณา กำหนดประเด็นข้อพิพาท และการสืบพยานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกระบวนพิจารณาและการสืบพยานของคณะอนุญาโตตุลาการนี้โดยไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและสืบพยานใหม่ 2. หากมีการยื่นสำเนาเอกสารโดยที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่คัดค้านความถูกต้องของเอกสารสำเนาเอกสารนั้น ให้รับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ 3. คู่พิพาทตกลงร่วมกันให้ใช้ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ บังคับแก่การดำเนินการอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทนี้ และให้อยู่ภายใต้การจัดการของสถาบันดังกล่าว ฝ่ายผู้ร้องทั้งสามแถลงรับข้อเท็จจริงว่า ศาลฎีกาได้พิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ 7277/2549 ระหว่างผู้ร้องทั้งสาม กับผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2549 ผู้ร้องที่ 3 ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 เป็นนิติบุคคลเดียวกันกับผู้ร้องที่ 3 ในข้อพิพาทนี้ และฝ่ายผู้ร้องทั้งสามได้ฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 721/2551 เรื่องลาภมิควรได้ คณะอนุญาโตตุลาการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อพิพาทในคดีนี้มีข้อเท็จจริงต่าง ๆ พอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานของฝ่ายผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้าน ทั้งนี้คู่พิพาททั้งสองฝ่ายต่างแถลงไม่คัดค้าน นัดพร้อมคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อปรึกษาทำคำชี้ขาดในวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เห็นว่า ผู้ร้องทั้งสามเข้าร่วมประชุมและทราบถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ของคณะอนุญาโตตุลาการมาโดยตลอด การประชุมในวันที่ 27 มีนาคม 2558 ผู้ร้องทั้งสามแถลงรับข้อเท็จจริงและแถลงไม่คัดค้านที่คณะอนุญาโตตุลาการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อพิพาทในคดีนี้มีข้อเท็จจริงต่าง ๆ พอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานของฝ่ายผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้าน นอกจากนี้การใช้อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ นั้น คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันกำหนดอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการไว้เป็นอย่างอื่น คณะอนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรตามที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 และ 30 ให้อำนาจไว้ การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นไปตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่คู่พิพาทต่างแถลงรับกันอันเนื่องมาจากสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง ระหว่างผู้ร้องทั้งสามกับผู้คัดค้าน รวมทั้งไม่ปรากฏว่าคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ส่วนการที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทเสร็จเด็ดขาดโดยให้ยุติกระบวนพิจารณาตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 38 วรรคสอง (3) นั้น เป็นอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่เห็นว่าสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนมีคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทได้ ประกอบกับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องทั้งสามโดยให้เหตุผลและรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ชอบแล้ว ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ของคณะอนุญาโตตุลาการจนกระทั่งมีคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย กรณีคำร้องของผู้ร้องทั้งสามจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ค) และ (2) (ก) (ข) ที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ อุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share