คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จะนำบทบัญญัติของประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.47(3) มาใช้ก็แต่ในกรณีที่ศาลมีความสงสัยในความแท้จริงของใบมอบอำนาจ จึงจะต้องจัดให้มีการปฏิบัติตาม ม.47(3) ถ้าใบมอบอำนาจใดศาลเชื่อแล้วก็ไม่ต้องนำ ม.47(3) นี้มาใช้และ ม.47(3) นี้ไม่ใข่บทบัญญัติที่บัญญัติถึงแบบของใบมอบอำนาจอย่างใดด้วย.

ย่อยาว

เดิมตัวโจทก์อยู่ที่เมืองเมกกะประเทศอารเบีย ได้มอบอำนาจให้นายหะยีอีน ฮาซาไนน์ ฟ้องจำเลยเป็นคดีเรื่องนี้ และชนะถึงที่สุดแล้ว ชั้นบังคับคดีนายหะยีอีน ฮาซาไนน์ ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงทำหนังสือมอบอำนาจให้นายสันต์ ฮาซาไนน์ ดำเนินการแทนสืบไป แต่จำเลยโต้แย้งคัดค้านว่าหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๗ เพราะไม่มีพยานตามที่ซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยาน และไม่มีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ และจำเลยไม่รับรองว่านายเอกชัย รักติประกร เป็นกงศุลรักษาการแทนกงศุลใหญ่ หนังสือมอบอำนาจฉบับนี้จึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ควรอนุญาตให้นายสันต์ ฮาซาไนน์ ดำเนินคดีแทนโจทก์
ศาลชั้นต้นเห็นว่าหนังสือมอบอำนาจสมบุรณ์ จึงสั่งอนุญาตให้นายสันต์ ฮาซาไนน์เป็นผู้รับมอบอำนาจได้
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้บรรยายข้อความเกี่ยวพันถึงคดีชัดเจน นายอิสมาแอล อับดุลลาห์ราบี ได้เซ็นเป็นพยานและให้คำยินยอมต่อท้ายลายเซ็นมอบอำนาจของโจทก์ มีพยานเซ็นรับรอง ๒ คน และนายเอกชัย รักติประกร กงศุลรักษาการในตำแหน่งกงศุลใหญ่รับรองลายเซ็นชื่อของโจทก์มาด้วย เป็นที่แน่ถนัดไม่มีข้อสงสัยเลย
สำหรับกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.๔๗ วรรค ๓ นั้น มิใช่เป็นบทบัญญัติในเรื่องแบบของหนังสือมอบอำนาจ ศาลจะบังคับตาม ม.๔๗ (๓) นี้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริงเท่านั้น สำหรับหนังสือมอบอำนาจนี้กงศุลไทยเซ็นรับรองแล้ว เป็นหลักฐานพอแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องเกี่ยวข้องถึงโนดารี่บับลิคหรือแมยิสเตร็ด หรือใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศอย่างใดอีก จึงพิพากษายืน.

Share