คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4164/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นภรรยา อ. ไม่มีบุตรด้วยกัน เมื่อ อ. ตายศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. จำเลยจึงได้จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของ อ. มาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกต่อมาจำเลยไปขอรับมรดกของ อ. ในฐานะเป็นทายาทโดยให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินและรับรองบัญชีเครือญาติว่า จำเลยเป็นทายาทของ อ. ทายาทอื่นนอกจากนี้ไม่มี ทั้งที่จำเลยก็ทราบว่า อ. มีโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมเป็นทายาทอีกคนหนึ่ง เป็นผลให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของ อ. ให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ส่วนทรัพย์มรดกอื่น ๆ จำเลยก็ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ใช่ของ อ. ถือได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าในส่วนที่ตนจะได้โดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่น จึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อนายเอี๋ยน สุวรรณพงษ์ เจ้ามรดกตาย นายเอี๋ยนมีเฉพาะโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมและภรรยาตามลำดับเป็นทายาท ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเอี๋ยน จำเลยได้แจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินและรับรองบัญชีเครือญาติว่าตนเป็นทายาทแต่เพียงผู้เดียวจนได้รับโอนที่ดินมรดกมาเป็นของตน โดยปฏิเสธไม่ยอมแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการยักย้ายหรือปิดบังมรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่น จึงถูกกำจัดมิให้รับมรดก ขอให้บังคับจำเลยรังวัดแบ่งแยกและโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยแบ่งห้องแถวพร้อมบ้านครึ่งหนึ่งให้โจทก์ หากไม่สามารถแบ่งและโอนให้ได้ ให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์มรดกพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่บุตรบุญธรรมของนายเอี๋ยน สุวรรณพงษ์จำเลยแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานที่ดินและได้จัดการมรดกของนายเอี๋ยนโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี ให้ปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นภรรยาของนายเอี๋ยน สุวรรณพงษ์ แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน เมื่อนายเอี๋ยนถึงแก่ความตาย และศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเอี๋ยนแล้ว จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ให้ที่ดินของนายเอี๋ยนทั้ง ๓ แปลงตามฟ้องมาเป็นชื่อของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จากนั้นจึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้รับมรดกในการนี้จำเลยได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินและรับรองบัญชีเครือญาติว่า จำเลยเป็นทายาทของนายเอี๋ยน ทายาทอื่นนอกจากนี้ไม่มีคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมิได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น อันต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลยนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่านายเอี๋ยนได้จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมจำเลยซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในฐานะคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม ย่อมทราบดีว่าโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายเอี๋ยนมีสิทธิได้รับมรดกของนายเอี๋ยนในฐานะทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเอี๋ยน ได้ไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินและรับรองบัญชีเครือญาติว่า จำเลยเป็นทายาทของนายเอี๋ยนทายาทอื่นนอกจากนี้ไม่มี เป็นผลให้เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่ผู้เดียว ส่วนทรัพย์มรดกอื่นจำเลยก็ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ใช่ของนายเอี๋ยน ถือได้ว่าจำเลยได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าในส่วนที่ตนจะได้โดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่นจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลยตามความในมาตรา ๑๖๐๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ ๓,๐๐๐ บาท

Share