แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32 มาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาย่อมมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2)
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและการที่การฟ้องคดีนี้มีผลทำให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดสะดุดหยุดลง ระยะเวลาภายหลังจากนั้นจึงไม่นับเข้าเป็นอายุความด้วย กรณีมิใช่เรื่องการบังคับคดี จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาใช้บังคับ
เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษามีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท และจำเลยไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้อีกซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 ว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามมาตรา 14 แม้ต่อมาในระหว่างการพิจารณาและก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดจะพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้วก็ตาม ก็หามีผลต่อคดีไม่ ส่วนที่โจทก์จะขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวกันในชั้นคำขอรับชำระหนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 16277/2529 แต่จำเลยทั้งสองและผู้ร่วมรับผิดอื่น ๆ ยังคงเพิกเฉยมิได้ชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จึงได้ขอหมายบังคับคดีทำการยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2532 นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาแต่ยังไม่ครบถ้วน คงเหลือจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระให้โจทก์อีกเป็นจำนวน 241,125.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินใดที่โจทก์จะสามารถบังคับคดีได้อีก โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์หลายครั้ง แต่จำเลยทั้งสองยังคงเพิกเฉยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ นับถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 512,241.58 บาท อันเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสอง จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดวันที่ 24 มีนาคม 2540 เป็นเวลาเกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 16277/2529 ของศาลแพ่ง ซึ่งศาลแพ่งได้พิพากษาเมื่อวันที่29 สิงหาคม 2529 โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 และโจทก์ไม่อาจจะขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ได้ ศาลต้องยกฟ้อง เห็นว่า หนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 16277/2529 เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษามาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลายภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาซึ่งอยู่ภายในกำหนดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและจากการที่การฟ้องคดีนี้มีผลทำให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดสะดุดหยุดลงดังได้วินิจฉัยมาแล้วระยะเวลาภายหลังจากนั้นจึงไม่นับเข้าเป็นอายุความด้วย กรณีมิใช่เรื่องการบังคับคดีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มาใช้บังคับ เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษามีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท และจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้อีกซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดตามมาตรา 14 แม้ต่อมาในระหว่างการพิจารณาและก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดจะพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้วก็ตามหามีผลต่อคดีไม่ ส่วนที่โจทก์จะขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวกันในชั้นคำขอรับชำระหนี้
พิพากษายืน