คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 111/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา104ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีให้เป็นไปตามนั้นซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวอนุโลมใช้กับคดีแรงงานด้วยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา31ฉะนั้นการที่ศาลแรงงานกลางสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้ววินิจฉัยคดีตามที่คู่ความรับกันถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานแล้วข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางพิจารณาเพียงบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยนั้นจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา54

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันเป็นเงิน 13,500 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นพนักงานขับรถยนต์โดยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนโดยจะสิ้นสุดเมื่อการก่อสร้างงานของโครงการแล้วเสร็จ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าการที่จำเลยจ้างลูกจ้างทำงานตามโครงการ อันเป็นวัตถุประสงค์ตามปกติธุรกิจจำเลยและเป็นการค้าของจำเลยจำเลยจะอ้างเพื่อเป็นเหตุในการไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาเลิกจ้างแน่นอนไม่ได้ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 13,500 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางตามข้อความที่ได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการว่าจ้างโจทก์ทำงานยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานเป็นลูกจ้างในโครงการอันเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยเนื่องจากจำเลยให้การว่าโจทก์ทำงานขับรถยนต์ให้แก่ผู้ควบคุมงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นบุคคลอื่น เมื่อจำเลยกับโจทก์มีข้อตกลงว่าจ้างกันไว้แน่นอน เมื่อสิ้นสุดการว่าจ้างงานจำเลยจึงไม่จำเป็นต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ การที่ศาลแรงงานมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลย ซึ่งมีประเด็นที่จำเลยสามารถนำสืบสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยได้และยังมีข้อโต้เถียงเป็นประเด็นที่ว่าเป็นงานโครงการที่มิใช่ธุรกิจหรือการค้าของจำเลยหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางตามที่ได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการว่าจ้างโจทก์ทำงานยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างในโครงการอันเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าขายของจำเลย เนื่องจากจำเลยให้การว่า โจทก์ทำงานขับรถยนต์ให้แก่ผู้ควบคุมงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นบุคคลอื่น จำเลยกับโจทก์มีข้อตกลงว่าจ้างกันไว้แน่นอน เมื่อสิ้นสุดการว่าจ้างจำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า คดียังมีประเด็นข้อโต้เถียงว่าเป็นงานโครงการที่มิใช่ธุรกิจหรือการค้าของจำเลยหรือไม่ จำเลยสามารถนำสืบสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยได้ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยจึงไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้วที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีมีประเด็นข้อโต้เถียงว่า เป็นงานโครงการที่มิใช่ธุรกิจหรือการค้าของจำเลยหรือไม่ซึ่งจำเลยมีสิทธิจะนำพยานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยได้การที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาเพียงบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาของศาล แล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายเพื่อจะยังให้การดำเนินคดีเป็นไปด้วยยุติธรรมและในข้อที่ว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานตามกฎหมายแรงงานและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีให้เป็นไปตามนั้น ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวอนุโลมใช้กับคดีแรงงานด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้ววินิจฉัยคดีตามที่คู่ความรับกันถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายก อุทธรณ์ ของ จำเลย

Share